ผู้เข้าชม
0
11 มิถุนายน 2565

 “ยอง” กลุ่มชนที่ตอบโต้การเข้ามาครอบครองเมืองยองของพม่า ด้วยการประกาศให้แผ่นดินเมืองยอง เป็นแผ่นดินพระธาตุ คนในเมืองยองเป็นข้าพระธาตุเจ้าจอมยอง ไม่ยอมให้พม่าเข้ามาเป็นส่วยภาษี และเมื่อพระสังฆโมลีชาวยองอนุญาตให้พม่ากินข้าวกินน้ำเมืองยองได้ ชาวยองต่อต้านด้วยการโจทย์ว่าพระสังฆโมลีนั้นเมื่อตายไปก็ไปกลายเป็นเปรต เมื่อต้องเข้ามาสวามิภักดิ์พระญากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ ก็มาอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะข้าพระธาตุ ภายใต้การนำของมูลนายเมืองยอง ภาพจาก https://pantip.com/topic/32459263 สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕

“ยอง” กลุ่มชนที่ตอบโต้การเข้ามาครอบครองเมืองยองของพม่า ด้วยการประกาศให้แผ่นดินเมืองยอง เป็นแผ่นดินพระธาตุ คนในเมืองยองเป็นข้าพระธาตุเจ้าจอมยอง ไม่ยอมให้พม่าเข้ามาเป็นส่วยภาษี และเมื่อพระสังฆโมลีชาวยองอนุญาตให้พม่ากินข้าวกินน้ำเมืองยองได้ ชาวยองต่อต้านด้วยการโจทย์ว่าพระสังฆโมลีนั้นเมื่อตายไปก็ไปกลายเป็นเปรต เมื่อต้องเข้ามาสวามิภักดิ์พระญากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ ก็มาอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะข้าพระธาตุ ภายใต้การนำของมูลนายเมืองยอง

ภาพจาก https://pantip.com/topic/32459263 สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕

ชนชั้นที่ต่ำกว่า ข้าหรือชนชั้นที่ต่ำสุดในสังคมล้านนาเป็นพวกนักโทษที่ต้องถูกเนรเทศไปเมืองอื่น โทษเนรเทศ ได้แก่ โทษเกี่ยวกับการทำยาพิษยาเบื่อ วางยาคน ฆ่าพ่อแม่ พี่น้องฆ่ากัน ข้าฆ่าเจ้า เมียฆ่าผัว กฎหมายจารีตไม่ฆ่าให้ตายและไม่ขายลงเป็นข้า แต่ให้ริบทรัพย์สินเงินทองเข้าคลังหลวงแล้วเนรเทศให้พ้นจากแผ่นดิน หากพิจารณาจากกฎหมายโบราณ แผ่นดินของล้านนามีขอบเขตเดินทางในระยะ ๒ เดือน การคุมตัวข้าออกไปให้พ้นแผ่นดินก็คือการปล่อยให้ไปตามยถากรรม ตัดขาดจากสิทธิในฐานะประชากรในสังคม โอกาสที่คนเหล่านี้จะมีชีวิตรอดเป็นไปได้ยากมาก หากไม่มีทักษะในการเอาตัวรอด หรือรู้วิธีการหาอาหารจากป่า หรือมีที่พึ่งพิงอยู่ภายนอกอาณาจักรก่อนแล้ว

ชนขั้นข้า เมื่อล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามฟื้นม่าน (ตั้งแต่เมืองเชียงแสนแตกในพุทธศักราช ๒๓๔๗) มูลนายของล้านนาเริ่มการฟื้นฟูบ้านเมืองโดยใช้หลักจารีตประเพณีและกฎหมายโบราณ เช่น มุลลกัณฑ์ไตร คดีโลกคดีธรรม ธรรมศาสตร์ (พระมนูธรรมศาสตร์) กฎหมายโบราณ ธรรมศาสตร์หลวง มังรายศาสตร์ (คลองมังราย) คลองตัดคำพระพุทธโฆษาจารย์ อาณาจักรหลักคำ เป็นต้น ต้นแบบของกฎหมายเหล่านี้อยู่ในเอกสารโบราณที่มีการคัดลอกสืบต่อกันมา กฎหมายโบราณของล้านนา เช่น มังรายศาสตร์ฉบับวัดแม่คือคัดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๘๓ มีการกล่าวถึงพวกข้า และ ประมวลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้า ที่ยังคงมีการคัดลอกสืบทอดมาจนถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

การคัดลอกกฎหมายที่กล่าวถึงข้า ประเภทของข้า และหลักการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับข้าเอาไว้เพื่อใช้ตัดสินคดี เป็นหลักฐานชัดเจนว่าล้านนายังคงมี ข้าเป็นกลุ่มประชากรหนึ่งในสังคม ส่วนสยามซึ่งสถาปนาขึ้นในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ก็มีการสืบเนื่องแนวปฏิบัติทางสังคม การเมือง การปกครอง จากต้นแบบคือกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งรูปแบบการบริหารประชากรที่ยังมี ทาส สืบต่อมาและมีกฎหมายสำหรับพิจารณาคดีความเกี่ยวกับทาสโดยเฉพาะ คือ พระไอยการทาษ และ พระไอยการลักษณกู้หนี้ เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนกับคำเรียกชื่อกลุ่มประชากร จากนี้ผู้ศึกษาขอเรียกประชากรกลุ่ม ข้าและทาส ด้วยคำเดียวว่า ทาส เนื่องจากประชากรในกลุ่มดังกล่าวของดินแดนล้านนาและสยาม มีสถานภาพทางสังคมคล้ายคลึงกัน ยกเว้นพวกที่เป็น ข้า ในพระพุทธศาสนาของล้านนาที่มีหน้าที่เฉพาะ และ ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษแตกต่างจากความหมายของคำว่าทาสโดยทั่วไป

ทาสล้านนา และ สยามก่อนการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมัยใหม่ตามการจัดระเบียบของสยาม ยังไม่มีการเกษียณอายุ หากเป็นทาสแล้วจะต้องเป็นตลอดไปจนกว่าจะหาทรัพย์สินมาซื้ออิสรภาพจากเจ้าของได้