ผู้เข้าชม
0
11 มิถุนายน 2565

นักโทษทำความผิด หรือหญิงมีชู้ อาจได้รับโทษตามกฎหมายจารีตให้ขายตัวเป็นข้า เพื่อนำเงินค่าตัวไปชดใช้ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับคดี กฎหมายห้ามมิให้มูลนายรับเอานักโทษหลบหนีมาขอเป็นข้าไว้ภายใต้การปกครอง หมายถึง พวกที่หนีหนี้มาเป็นข้า มีคดีติดตัวมาขอเข้ามาเป็นข้าเพื่อชนะคดี รวมทั้งพวกโจรผู้ร้ายลักวิ่งชิงปล้น ฆ่าคน หรือผู้ที่ทิ้งงานหลวง ห้ามไม่ให้เอามาเป็นข้า ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ข้าเหล่านั้นอาศัยอำนาจบารมีของเจ้าข้าเป็นเครื่องงดโทษหรือข่มแหงทำร้ายผู้อื่น

กฎหมายจารีตของล้านนายังเปิดโอกาสให้ข้าได้เป็นไท ถ้าหากข้ามีเงินค่าตัวมาจ่ายให้แก่เจ้าข้า ข้าผู้นั้นย่อมเป็นอิสระได้ แต่จารีตทางสังคมรวมทั้งระบบกฎหมายโบราณ ทำให้ข้ากลุ่มนี้แทบไม่มีโอกาสที่จะทำงานหารายได้เป็นของส่วนตัวถ้าเจ้าข้าไม่อนุญาต ถ้าจะรับจ้างทำงาน เงินที่ข้าหามาได้ก็ต้องตกเป็นของเจ้าข้า ข้าจะไม่สามารถครอบครองที่ดิน บ้าน แม้แต่ลูกของตนเกิดมาก็มีสถานะข้าตั้งแต่แรก ถือเป็นทรัพย์สินของเจ้าข้า

แต่ถ้าข้าผู้หญิงตั้งครรภ์แล้วหลบหนีจากเจ้าข้าไปจนข้ามแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวิน) ไปคลอดลูกอยู่อีกฟากหนึ่งของฝั่งน้ำ ให้ถือว่าข้านั้นเป็นอิสระจากเจ้าข้าทั้งแม่และลูก รวมทั้งบรรดาข้าชายและหญิงที่หนีข้ามแม่น้ำคงไปแล้วด้วยเช่นกัน แต่ข้าเหล่านี้จะข้ามแม่น้ำคงกลับเข้ามาไม่ได้ หากข้ามกลับมาแล้วถูกจับตัว จะถูกส่งกลับคืนเจ้าข้า หรือเจ้าข้าเป็นชู้กับเมียข้า จะต้องปล่อยผัวให้เป็นอิสระ หากเจ้าข้าจ่ายเงินไถ่ตัวข้าผู้หญิงมาเป็นเมีย หญิงนั้นจะพ้นสภาพข้าเปลี่ยนสถานะเป็นไพร่ ลูกที่เกิดมามีสถานะเป็นไพร่ และหญิงที่นั้นมีสิทธิรับมรดกที่ผัวสั่งเสียไว้ให้มอบให้แก่ตนเอง รวมทั้งมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของ ข้า ของผัวสืบต่อไป แต่ต้องมีพยานรู้เห็นคำสั่งเสียนั้นด้วย หรือกรณีที่เจ้าข้าบวชเป็นพระภิกษุ อาจจะปลดปล่อยข้าในครอบครองของตนให้เป็นไทเพื่อทำบุญ แต่ถึงจะมีฐานะทางสังคมเป็นไพร่ ๆ ทุกคนก็ถูกนับรวมเป็น ข้าแผ่นดิน

ข้าปลายหอกงาช้าง” “ข้าหอคนโฮ่งเกิดจากธรรมเนียมการรบทัพจับศึกในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคจารีตที่กำลังคนมีผลต่อการสร้างผลผลิตและสะสมความมั่งคั่งในบ้านเมือง เมื่อฝ่ายใดได้รับชัยชนะ ก็มักจะกวาดต้อนคนจากฝ่ายแพ้กลับไปเป็นแรงงาน สร้างผลผลิตและสร้างสิ่งต่าง ๆ เรียกว่าเชลยสงครามหรือ ข้า หลักฐานกล่าวถึงข้า พวกนี้มีเค้าลางอยู่ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ปีพุทธศักราช ๑๘๓๕ ว่า “... กูไปตีบ้านตีเมือง ตีได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงินได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู ...” รวมถึงข้าที่ได้จากการ หลอน หรือการจับตัวคนของบ้านเมืองอื่นระหว่างการตรวจตราพื้นที่ชายแดนระหว่างรัฐต่อรัฐ เพราะความต้องการกำลังคนในการผลิตสิ่งของต่าง จะมากน้อยกี่คนที่จับได้มาก็ตาม ต้องนำเข้ามาถวายให้แก่กษัตริย์ กลายเป็น ข้าหอคนโฮ่ง การนำพาคนข้ามพรมแดนไปในลักษณะนี้ กฎหมายยุคจารีตของรัฐและอาณาจักรโบราณในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะห้ามมิให้ติดตามพวกที่ถูกนำพาไปยังแผ่นดินอื่น ทั้งนี้เพื่อป้องกันความยุ่งยากที่จะเกิดตามมาหากเกิดการต่อสู้แย่งชิงคน จนอาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามระหว่างบ้านเมือง ถ้าคนพวกนี้อยากกลับไปบ้านเมืองของตนเอง จะต้องหาทางหลบหนีออกมาด้วยตนเองเท่านั้น

กลุ่มประชากรพวกที่ล้านนาระบุว่าเป็น “ข้าปลายหอกงาช้างหรือข้าหอคนโฮ่ง ตรงกับคำเรียก ทาสเชลย ของสยาม

พวกข้าปลายหอกงาช้าง เมื่อมีลูกหลานก็ต้องดำรงสถานะทางสังคมเป็นข้าตั้งแต่แรกเกิดคล้ายกับพวกที่สยามเรียกว่า ทาสในเรือนเบี้ย แต่ลูกหลานของข้าปลายหอกงาช้างมักไม่มีหลักฐานความเป็นข้าอยู่กับเจ้าข้าคนใดแน่ชัดต่างจากพวกข้าพระที่จะถูกรับรองสถานะโดยศิลาจารึก หากมีการหลบหนีทางบ้านเมืองจะทำการตรวจสอบสืบพยาน เพราะพวกข้าปลายหอกงาช้างมักจะตกทอดมาเป็นมรดกสืบต่อมาเรื่อย ๆ หากเกิดคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะกรณีข้าหนีเจ้าข้า ก็ไม่มีหลักฐานที่เจ้าข้านำสืบความได้ชัดเจน มีแต่พยานบุคคลเท่านั้น พวกข้าปลายหอกงาช้างไม่มีการเกษียนไปจากความเป็นทาสจนชั่วลูกชั่วหลาน รวมทั้งเกือบจะเป็นพวกที่ไม่มีตัวตนอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของล้านนาเลย