พระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส เมื่อร่วมสำรวจถ้ำคูหา สทิงพระ ร่วมกับอาจารย์มานิต วัลลิโภดม
ท่านเจ้าคุณฯ มองออกว่าเป็น ‘แผนที่การสร้างวัดและกัลปนาที่ดินให้กับวัดและชุมชน’ โดยเฉพาะบรรดาสระน้ำขนาดใหญ่ คนท้องถิ่นเรียกว่า พัง หรือ ตระพัง ที่ปรากฏในแนวสันทรายเป็นระยะๆ ตีความได้ว่า เป็นแหล่งน้ำจืดเพื่อการอุปโภคบริโภคร่วมกันของคนในแต่ละชุมชน โดยเฉพาะชื่อวัดที่อยู่ในแผนที่ก็คือชื่อของชุมชนบ้านและเมืองที่ยังคงอยู่
การสำรวจและศึกษาครั้งนั้นทำให้อาจารย์มานิตและอาจารย์ศรีศักรกำหนดบริเวณสำคัญของชุมชนบ้านเมืองของแผ่นดินบกได้ชัดเจนสืบมา
พื้นที่บริเวณแรกตั้งแต่หัวเขาแดงไปจนถึงคลองปะโอ หัวเขาแดงคือที่ตั้งของเมืองสงขลาในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นเมืองที่มีคูน้ำ กำแพงเมือง และป้อมปราการบนเขา ปกครองโดยสุลต่านสุลัยมานเชื้อสายพ่อค้าอาหรับ เป็นเมืองท่าที่มีพ่อค้านานาชาติเข้ามาติดต่อค้าขาย และเกิดสงครามกับศูนย์กลางอำนาจที่อยุธยา ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจนมาแพ้สงครามในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ภายในเมืองมีเขาเตี้ยลูกหนึ่งคือ เขาน้อย เป็นที่ตั้งของพระสถูปวัดเขาน้อยที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา เป็นพระสถูปที่สร้างทับพระสถูปเดิมในสมัยศรีวิชัย คือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๒ บริเวณฐานก่อด้วยอิฐที่ตัดมาจากหินปะการัง และมีร่องรอยกุฑุแบบจาม
บริเวณปากคลองบ้านสทิงหม้อ เดิมอาจเป็นบริเวณชุมชนโบราณที่เรือสินค้าเข้ามาจอด พบเศษภาชนะดินเผาหลายยุคหลายสมัย เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาสำคัญจนมาเลิกเมื่อไม่นานนี้ ที่วัดธรรมโฆษณ์เก็บเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลาเนื่องในพุทธศาสนามหายานที่มีความเก่าไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ท่านเจ้าคุณฯ ได้ขอมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส
ตามสันทราย บริเวณคลองปะโอ เป็นแหล่งผลิตภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่พบซากเตาเรียงรายอยู่สองฝั่งคลอง จากการขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ พบภาชนะโบราณรูปกาน้ำที่เรียกว่า กุณฑี จานแบน กระปุกสีเทา และเศษภาชนะเคลือบขาวเนื้อบาง
ยังพบโบราณวัตถุทั้งในพุทธศาสนามหายาน เช่น พระโพธิสัตว์สำริด อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ พระพุทธรูปสำริดแบบทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒
เมืองโบราณสทิงพระหรือจะทิ้งพระ มีตระพังน้ำหลายแห่งทั้งใหม่และเก่า เช่น พังเสม็ด พังจิก พังยาง พบรอยร่องน้ำของคลองโบราณจากหาดมหาราช ตัดข้ามไปยังแถบวัดคลองขุด เชื่อมระหว่างชายฝั่งทะเลทางตะวันออกกับชายฝั่งทะเลสาบ
เหนือขึ้นไปเป็นที่ตั้งของ ‘เมืองสทิงพระ’ ซึ่งมีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันมีถนนหลวงผ่านกลาง มีวัดจะทิ้งพระหรือวัดสทิงพระอยู่ทางฝั่งตะวันตก เป็นวัดเก่าที่มีพระมหาธาตุเจดีย์ ที่แสดงสถานภาพความเป็นเมืองในระดับ ‘นคร’