จารึกวัดควาง จารึกหลักนี้อุทิศพื้นที่ให้กับการสอบสวน และ การจ่ายเงินไถ่ตัวข้าพระ
สันนิษฐานว่าทำขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ปัจจุบันอยู่ที่วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา
ข้า” พวกมีค่าตัวซื้อขายได้ดังสิ่งของ “ข้า” เรียกว่า “ข้าน้ำเบี้ยน้ำเงิน” ตรงกับคำว่าทาสสินไถ่ของสยาม สถานะทางสังคมของข้ากลุ่มนี้ด้อยกว่าข้าในพระพุทธศาสนา เพราะข้าในกลุ่มนี้จะไม่สามารถครอบครอบบ้านเรือนที่ดิน หรือผลประโยชน์ใดใดที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ผลผลิตหรือสินค้าที่ข้ากลุ่มนี้สามารถทำขึ้นได้ก็ต้องตกเป็นสมบัติของเจ้าข้า ยกเว้นแต่เจ้าข้าจะอนุญาตให้ข้ามีสิ่งของส่วนตัวได้เท่าไหร่ ก็จะมีได้เท่าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น บางทีเจ้าข้าไปรับงานรับจ้างมาจากผู้อื่นแล้วสั่งให้ข้าไปทำงานแทนตน ส่วนเงินค่าจ้างเจ้าข้าเป็นผู้รับ เรื่องราวของข้ากลุ่มนี้มีแทรกอยู่ในเอกสารยุคจารีตที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดี เช่น คลองตัดคำพระพุทธโฆษาจารย์ ระบุว่า เมื่อครั้งที่พระญากือนาครองราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่
พระองค์ห้ามไม่ให้รับฟ้องกรณี “ข้า” ฟ้องเจ้าข้าที่ขายตนให้ไปอยู่กับเจ้าข้าคนใหม่ที่ตัว “ข้า” ไม่ได้สมัครใจไปอยู่ด้วย และ ให้เจ้าข้าเดิมของ “ข้า” ผู้นั้นจับกุมคุมตัวไปส่งให้แก่เจ้าข้าคนใหม่ ข้อความนี้แสดงชัดเจนถึงการไร้สิทธิในฐานะอิสระชน ในล้านนามีอาชีพ “คนค้าข้า” ลักษณะเป็นนายหน้าค้ามนุษย์ บางที่ข้าเหล่านี้ก็ถูกเรียกตามตำแหน่งราชการของมูลนาย คือ “ข้าของขุน” “ข้าของไพร่” “ข้าของท้าวพระญา”
“ข้า” ในชนชั้นนี้บางคนอาจเป็นไพร่มาก่อนแต่เลี้ยงตัวเองไม่ไหว ยอมขายตัวเองเป็นข้าเพื่อให้นายเลี้ยงดู การขายตัวเองเป็นข้าเท่ากับยอมรับที่จะถูกลิดรอนสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และ ผลประโยชน์ทางกฎหมาย เช่น รับมรดกของบิดามารดาที่เป็นไพร่ไม่ได้ จะฟ้องร้องต่อมูลนายขอรับมรดกตามที่กฎหมายจารีตระบุไว้ว่า เมื่อบิดามารดาตายสมบัติให้ตกทอดแก่ลูกหลานสัดส่วนเท่าใดไม่อาจทำได้ ยกเว้นแต่ว่าทาสผู้นั้นจะมีพยานยืนยันว่าบิดามารดาสั่งเสียไว้ก่อนตาย ว่ามอบสิ่งใดไว้ให้ตนเองบ้าง
บางครั้งบิดามารดานำลูกของตนไปขายเป็นข้าเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ที่ตนเองเป็นผู้ก่อขึ้น ผู้เป็นลูกจะขัดขืนไม่ได้ ลูกที่เกิดจากแม่ที่เป็นข้า ก็จะต้องเป็นข้า และ เป็นสมบัติของเจ้าข้าตั้งแต่แรกเกิดหรือตรงกับคำว่า “ทาสในเรือนเบี้ย” แต่มีบางกรณีที่ยกเว้นไม่ต้องเป็นข้า ตัวอย่างเช่น ข้าของขุนนางไปอยู่กินกับไพร่ผู้หญิง หากมีลูกสามคน ลูกสองคนให้เป็นไพร่เหมือนแม่ ส่วนอีกคนเป็นข้าเหมือนพ่อ หรือถ้าข้าของกษัตริย์ไปอยู่กินกับไพร่ผู้หญิง ลูกที่เกิดมาทุกคนเป็นไพร่ ถ้าพ่อตายลงให้พิจารณาว่ามีการนำสิ่งของของพระญาไปเก็บรักษาไว้เท่าใด ให้ส่งคืนแก่กษัตริย์ แต่ถ้าใช้สอยไปแล้วหมดสิ้นติดตามไม่ได้ ถือว่าแล้วกันไป