ผู้เข้าชม
0
29 มกราคม 2564

จากสทิงพระสู่เมืองสงขลา

ชายฝั่งทะเลสาบตั้งแต่หาดใหญ่ รัตภูมิ ในจังหวัดสงขลา ไปจนถึงท่าศาลา สิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณลำน้ำเก่าและที่ราบตามหน้าเขาและชายเขา

ใช้พื้นที่บริเวณปากถ้ำเป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมที่อยู่สืบเนื่องมาจนถึงสมัยศรีวิชัย พบพระพิมพ์ดินดิบและดินเผาตามถ้ำเขตอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ถ้ำเขาชัยสน ถ้ำวัดคูหาสวรรค์ และเขาอกทะลุ จังหวัดพัทลุง เป็นยุคสมัยที่มีการนับถือพุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดู ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมา

เป็นยุคที่มีการค้าขายทางทะเลจากมหาสมุทรอินเดีย ผ่านหมู่เกาะอินโดนีเซียและคาบสมุทรสยาม-มลายูไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้ เป็นยุคที่การเดินเรือจากฝั่งตะวันออกของอินเดีย สามารถเดินทางผ่านช่องแคบมะละกามายังเมืองปาเล็มบังที่เป็นเมืองสำคัญของรัฐศรีวิชัย แล้วอ้อมวกแหลมมลายูมายังทะเลอ่าวไทย ผ่านบ้านเมืองในกลุ่มรัฐทวารวดีไปยังกัมพูชา เวียดนาม และจีนใต้

ช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ยุคหรือสมัยเวลาทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า ทวารวดีและศรีวิชัย เป็นยุคของการเผยแผ่พุทธศาสนาทั้งเถรวาท มหายาน และฮินดู เป็นพัฒนาการที่การเดินทางค้าขายทางทะเลจากอินเดียสามารถอ้อมแหลมมะละกามายังอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ได้มากขึ้นจนเห็นได้ชัด

แต่การค้าในยุคที่ยังใช้ เส้นทางข้ามคาบสมุทร (Trans-peninsular routes) ก่อนหน้านั้น ทำให้เกิดชุมชนท่าจอดเรือซื้อขายและขนถ่ายสินค้า และเป็นเมืองท่าที่เป็นนครรัฐ เพราะพื้นที่รอบๆ ทะเลสาบสงขลามีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานและเหมาะกับการเป็นท่าจอดเรือที่เข้ามาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า

บริเวณที่เป็นชุมชนเมืองท่าและท่าจอดเรือที่เก่าที่สุด พบมากในพื้นที่เขาและแนวสันทรายจากหัวเขาแดงถึงอำเภอระโนด

 

อาจารย์ศรีศักรกับประสบการณ์ร่วมกับผู้ใหญ่แห่งลุ่มทะเลสาบ

ราว พ.ศ. ๒๕๑๗ อาจารย์ศรีศักรและอาจารย์มานิต วัลลิโภดม เคยไปสำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตสงขลา พัทลุง ด้วยการนำของพระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส และคุณเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ผู้เป็นปราชญ์ทางโบราณคดีเมืองสงขลา เรียกว่า แผ่นดินบก การสำรวจครั้งนั้น อาจารย์มานิตนำแผนที่โบราณของคาบสมุทรจากหอสมุดวชิรญาณไปสืบค้นในพื้นที่ และแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ และของกรมแผนที่ทหาร แลเห็นร่องรอยการตั้งถิ่นฐานตามแนวสันทรายที่เป็นชุมชนบ้านเมือง จากบริเวณที่มีสระน้ำหรือตระพัง บริเวณที่มีร่องรอยของคูน้ำและคันดิน รวมทั้งร่องรอยของพื้นที่ทำนาจากบริเวณที่ลุ่มต่ำระหว่างแนวสันทราย

เขาชัยสน ในอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง Landmark สำคัญริมทะเลสาบสงขลา

นางศยามตารา เป็นศักติหรือนางคู่พระบารมีของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พบที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕