ผู้เข้าชม
0
11 มิถุนายน 2565

ข้าพระ” (ข้าพระเจ้า, ข้าวัด) คือกลุ่มประชากรที่ถูกถวายไว้ในพระพุทธศาสนา สำหรับพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง การถวายข้าพระน่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากวัฒนธรรมหริภุญชัย แล้วมีการถวายข้าพระสืบทอดต่อมาในอาณาจักรล้านนา ดังปรากฏจารึกล้านนาพบในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ทำให้ทราบว่ามีการทำบุญของพระเจ้าแผ่นดินโดยการถวายคนให้เป็น ทาส เพื่อทำงานให้แก่ศาสนสถาน มีข้อสังเกตว่าจารึกที่ทำขึ้นก่อนการก่อนรูปของอาณาจักรล้านนาจะไม่ระบุค่าไถ่ตัวหรือราคาค่าตัวของข้าพระ จนนำมาสู่ข้อสงสัยต่อมาว่า คนเหล่านั้นจะสามารถพ้นจากสถานะ ทาสหรือ ข้าของศาสนสถานได้ด้วยวิธีใด

เมื่อเข้าสู่ยุคอาณาจักรล้านนามีเรื่องราวของ ข้าพระ กล่าวไว้ในศิลาจารึกประมาณ ๗๐ หลัก เรียกคนพวกนี้ว่า ข้าพระ” “ข้าพระเจ้า” “ข้าวัดเป็นต้น มีหน้าที่ทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา หน้าที่หลักคือดูแลทำนุบำรุงถาวรวัตถุ พุทธสถาน พระพุทธรูป รวมทั้งพระภิกษุ

ข้าพระจะได้รับอภิสิทธิ์ทางสังคม เช่น ไม่ต้องรับใช้บ้านเมืองทำราชการ ไม่ต้องส่งส่วย สามารถถือครองที่ดิน และ มีบ้านเรือนเป็นทรัพย์สินส่วนตัวได้ เช่น จารึกวัดพระธาตุศรีจอมทอง ทำขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๐๙๙ ระบุว่ามี ข้าพระ จำนวน ๔๑ ครัวเรือนที่คอยรับใช้พระมหาตุเจ้าจอมทอง ไม่ต้องทำงานของเจ้านายหรือขุนนาง ไม่ต้องถูกเกณฑ์มารบเป็น พลเสิก ไม่ต้องส่งส่วยภาษีตามระบบจารีต มีกรรมสิทธิ์ในการทำที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ เมื่อข้าพวกนี้มีลูก ๆ ของข้าจะสืบต่อสถานภาพข้าพระ ห้ามไม่ให้ถอดถอนพวกเขาเหล่านี้ออกจากความเป็นข้าพระมหาธาตุเจ้าจอมทอง จนกว่าจะสิ้นอายุพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี ข้าบางคนได้รับผลประโยชน์จากภาษีนาที่ถวายไว้ให้แก่วัดเป็นของส่วนตัว ลักษณะเดียวกับเงินเดือน เช่น ข้าเฝ้าหอพระไตรปิฎกในวัดพระธาตุหริภุญชัย ตั้งแต่ตนเองไปจนถึงลูกหลานแหลน มีหน้าที่เป็นนายหอปิฎก ได้รับเบี้ยปีละ ๕๐๐,๐๐๐ เบี้ย ส่วนคนอื่นได้ปีละ ๑๐๐,๐๐๐ เบี้ย

ในพวกข้าพระ เหมือนกัน ไม่ต้องทำงานของทางบ้านเมือง กลับมีการแบ่งชนชั้นตามประวัติเดิม หรือพฤติการณ์ที่ได้เข้ามาเป็นข้าพระ เช่น ข้าพระที่เป็นลูกเมีย ญาติพี่น้อง หรือข้าในปกครองของผู้ที่ต้องการทำบุญโดยถวายคนเป็นข้า, เจ้าเมืองถวายคนทำบุญ, คนที่สมัครใจยินดีจะเป็น

ข้าวัดหรือข้าพระ ๆ จะมีระดับชนชั้นในสังคมของข้าพระด้วยกันสูงกว่าพวกข้าพระที่ถูกไถ่ตัวจากการเป็นลูกหนี้มาเป็นข้า หรือ ลูกหนี้ที่ยืมเงินของวัดของพระแล้วไม่มีใช้คืน (อมเงิน)คนที่ถูกซื้อหรือไถ่ตัวมาเป็นข้า การมอบคนให้เป็นข้าพระต้องมีการระบุจำนวนคน ชื่อตัว ชื่อครอบครัว รวมทั้งค่าตัวของคนเหล่านั้นกำกับอยู่เสมอ มักจะพบความแตกต่างของการใช้คำเรียก ระหว่าง ข้ากับ คน ปะปนกันในจารึกล้านนา อาจเป็นเพราะ ข้าบางคนไม่ได้มีสถานะเป็นข้าที่มีค่าตัวตั้งแต่แรก หากแต่เป็นไพร่หรือญาติพี่น้องลูกเมียของไพร่ที่ถูกมอบให้เป็นข้าใช้แรงงานในทางพระพุทธศาสนา จึงเป็นกลุ่มชนชั้นอภิสิทธิ์ยิ่งกว่าข้าพระอื่น ๆ ข้าจำพวกนี้บางครั้งถูกเรียกว่า คนสินทาน หรือ คนทาน คือคนที่มูลนายถวายไว้แด่พระพุทธศาสนานั่นเอง

การที่ข้ากลุ่ม ข้าพระ” “ข้าพระเจ้า” “ข้าวัด มีทั้งอภิสิทธิ์และผลประโยชน์ส่วนตน ผนวกกับการที่ข้าพระบางคนมีอำนาจจัดการเงินรายได้ของวัด และ ปกครองผู้ที่เข้ามาเป็นข้าวัดคนอื่น คงเป็นแรงจูงใจสำคัญทำให้มีผู้ประสงค์จะเข้ามาเป็นข้าในกลุ่มนี้มากกว่าจะหลบหนี อำนาจของพวกข้าพระคงมีมากจนสามารถสร้างข้อต่อรองทางการเมืองกับกลุ่มมูลนาย จนต้องมีข้อจำกัดว่าการถวายคนเป็นข้าในพระพุทธศาสนาจะต้องได้รับอนุญาตจากราชสำนักในเมืองเชียงใหม่ แต่ก็มีหลักฐานว่าข้าพระพวกที่ไม่มีอำนาจจัดการกับเงินรายได้ของวัด ไม่ได้รับผลประโยชน์จากภาษีที่ถวายไว้แก่วัด หรือข้าพระที่ประสบภัยสงคราม การขาดแคลนอาหาร ฯลฯ ข้าพระพวกนี้ก็อาจเพิกเฉยหรือละทิ้งหน้าที่ เช่น กรณีข้าพระเจ้าตนหลวงที่เมืองพะเยาละทิ้งหน้าที่ไปอยู่เมืองเวียงจันทน์

หากข้าพระแต่งงานไปกับคนนอกไม่ได้แต่งงานกับพวกข้าพระกลุ่มเดียวกัน ทางราชการจะแต่งตั้ง เจ้าไท เข้ามามาสืบสวนและนำตัวข้าส่งกลับคืนไปทำงานให้ต้นสังกัด หรือให้นำเงินมาซื้ออิสรภาพของตนเอง ที่น่าสนใจคือจารึกบางหลักตีความได้ว่ามีขุนนางยศ หมื่น คนหนึ่งได้ไถ่ตัวข้าวัดในเมืองพะเยาเพื่อไปเป็น พระมหาเทวี ถ้ามีโอกาสจะได้เล่าให้ฟัง