ผู้เข้าชม
0
19 กันยายน 2563

 

ทางค่ายคอมมิวนิสต์คือสังคมนิยมประชาธิปไตย ในขณะที่ทางค่ายประชาธิปไตยคือทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยที่เน้นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการลงทุนทางเศรษฐกิจ ส่วนทางด้านคอมมิวนิสต์เน้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องของส่วนรวมหรือกลุ่มทางสังคมเป็นสำคัญ โดยใช้ฐานทางสังคมที่เรียกว่า คอมมูน เป็นเป้าหมายของการอยู่ร่วมกัน

คอมมูนเป็นโครงสร้างและองค์กรที่มีรากเหง้ามาจาก Community หรือชุมชนอันเป็นองค์สังคมธรรมชาติ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีโครงสร้างและระเบียบแบบแผนจึงจะมีชีวิตรอดร่วมกันได้ การเกิดของชุมชนตั้งอยู่บนฐานของการเข้ามารวมกันของครอบครัวและเครือญาติ [Family และ Kinship] ซึ่งนับเนื่องเป็นสถาบันสากลของความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์ไม่ใช่สัตว์โลกที่เป็นเดรัจฉานที่ช่วยตัวเองได้และแยกตัวออกไปอยู่ตามลำพัง

หลายครอบครัวและเครือญาติที่แตกต่างกันในทางสายเลือดและชาติพันธุ์มารวมกันเป็นชุมชนในพื้นที่ซึ่งเป็นแผ่นดินเกิดเดียวกัน และมีการเติบโตตั้งขึ้นจากชุมชนหมู่บ้าน [Village] มาเป็นเมือง นคร และรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีผู้นำผู้ปกครองและองค์กรทางรัฐศาสตร์และการบริหารทำหน้าที่ในการปกครอง ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากกษัตริย์ จนถึงประธานาธิบดีหรือผู้นำของรัฐในรูปแบบต่างๆ

ทั้งหมดนี้นับเนื่องเป็นมิติทางสังคมที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรม [Culture] เพื่อมีชีวิตรอดร่วมกันที่มีศาสนาเป็นสถาบันสากล [Universal institution] ที่ขาดไม่ได้ในความเป็นมนุษย์ควบคู่ไปกับสถาบันทางสังคม อันได้แก่ ครอบครัวและชุมชน

ในยุคสงครามเย็นทั้งด้านทุนนิยมเสรีและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ต่างก็ต้องมีการพัฒนาสังคม บ้านเมืองเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยมีการสร้างแผนพัฒนาสังคมเศรษฐกิจเป็นฐานในการพัฒนาที่มีความแตกต่างกัน ทางฝ่ายทุนนิยมเสรีเน้นการพัฒนา หรืออีกนัยหนึ่งการเปลี่ยนแปลงในลักษณะปฏิรูปที่มีการวางแผนแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่หักโหม เพราะเกรงว่าคนในสังคมที่มีหลากหลายระดับจะปรับตัวไม่ได้เท่ากัน เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง


 

ในขณะที่ทางค่ายคอมมิวนิสต์สร้างแผนพัฒนาแบบบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยอำนาจของรัฐ ในลักษณะที่เป็นการปฏิวัติ [Revolution] เพื่อให้ประสบผลสำเร็จโดยรวดเร็ว ทำให้ลักษณะการปกครองเป็นแบบเผด็จการ เกิดการฆ่าฟัน บรรดาเศรษฐี นายทุน ขุนนาง ข้าราชการ และกษัตริย์ที่เคยมีมาแต่อดีต

การปฏิวัติดังกล่าวนี้มีลักษณะองค์รวมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งสถาบันทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจที่เรียกรวมๆ ว่าการปฏิวัติวัฒนธรรม หัวใจของการปฏิวัติดังกล่าวนี้อยู่ที่คนรุ่นใหม่ [Young generation] ลึกๆ ลงไปในสาเหตุของการปฏิวัติวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ เนื่องมาจากความยากจน [Poverty] และความอดอยาก [Hunger] ผู้คนในระดับต่างๆ ทางสังคมได้รับจากการเอารัดเอาเปรียบจากบรรดาผู้มีอำนาจและนายทุนของบ้านเมืองในระบบการปกครองที่มีมาแต่เดิม จึงสรรหาวิธีการใหม่ๆ ที่เป็นการปฏิวัติล้มล้างลัทธินายทุน และระบบการปกครองที่มีมาแต่เดิมที่ไม่สามารถทำให้คนจนในระดับล่างอยู่ดีกินดีได้

เพราะฉะนั้นเพื่อสร้างสังคมใหม่ให้ได้ผลดี ก็ต้องสร้างพลังอำนาจใหม่ให้เกิดขึ้น คือจากคนรุ่นใหม่ โดยทำลายสิ่งที่เป็นสถาบันในความเป็นมนุษย์ เช่น สถาบันครอบครัว ชุมชน และการแต่งงาน ซึ่งนับเนื่องในมิติทางสังคม กับสถาบันทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งคือศาสนา รวมทั้งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นจากความมั่งคั่งและเป็นอารยธรรมที่มีมาแต่อดีต

สังคมมนุษย์ที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตที่กล่าวถึงในบทความนี้ก็คือ อิสราเอลและจีนคอมมิวนิสต์อิสราเอล สร้างโรงเลี้ยงเด็กเป็นคอมมูนในนามของ คิบบุทซ์ เอง เด็กแยกออกจากพ่อแม่มาเลี้ยงให้การศึกษาอบรมให้กลายเป็นเด็กและคนของรัฐโดยไม่ต้องมีพ่อแม่ เช่นเดียวกันกับจีนคอมมิวนิสต์สมัยเหมาเจอตุงเป็นผู้นำ จีนสร้างโรงเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นกำลังของรัฐและภักดีต่อประธานเหมา อันเป็นผู้นำสูงสุดที่ใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมของบ้านเมืองในนามของ เรดการ์ด ที่เติบโตอย่างทำให้เยาวชนและองค์กรเยาวชนมีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของบ้านเมือง รวมทั้งก่อความรุนแรงไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายขนบประเพณีของบ้านเมือง เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลต้องจัดระเบียบบ้านเมืองใหม่ และสมัยต่อมาเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำก็ได้ปราบปรามลดอำนาจของพวกเยาวชนเรดการ์ดให้หมดไป