ชนชั้นของ “ข้า” : สถานภาพทางสังคมของชนชั้นข้าและต่ำกว่าข้า จากเอกสารประวัติศาสตร์ล้านนา - สยาม
สังคมล้านนายุคจารีตแยกคนเป็นชนชั้น ๒ ชนชั้นใหญ่ ๆ คือ ชนชั้นมูลนาย ประกอบด้วยผู้เป็นมูลนายโดยกำเนิดเรียกว่า “เจ้า” กับพวกมูลนายเพราะทำราชการ หรือ “ท้าว” “ขุน” ฯลฯ กลุ่มนี้เรียกรวม ๆ ว่าพวก “เจ้าไท” มูลนายโดยกำเนิดที่สืบสายเลือดจาก “พระญา” เท่านั้นจึงมีสิทธิชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งปกครองประชากรทุกกลุ่มซึ่งถูกจัดรวมเป็น “ข้าของเจ้าแผ่นดิน” ดังภาษิตว่า “เชื้อขุนก็ให้ปองเป็นขุนไจ้ ๆ เชื้อไพร่ให้หมั่นกระทำการ”
ส่วนชนชั้นไม่ใช่มูลนาย คือ “ไพร่” และ “ข้า” โดยพวก “ไพร่” (ไพร่ไท, ไพร่ฟ้า) เป็นพวกที่ไม่มีราคาค่าตัว อยู่ภายใต้การควบคุมของมูลนายให้ทำงานราชการ และ สร้างผลผลิตส่งส่วยให้ราชสำนัก มีข้อห้ามมิให้ไพร่ที่มีทักษะการต่อสู้เป็น “พลหอกพลอาวุธ” (ทหาร) ขายตัวเองเป็นข้าเพื่อเอาเงินใช้หนี้ จารีตล้านนาอนุญาตให้เอาที่นาประจำตำแหน่งตีราคาหรือขายลูกตัวเองเป็นข้า เพื่อเอาเงินไปใช้หนี้
ที่น่าสนใจคือพวกที่ถูกเรียกว่า “ข้า” ปรากฏว่าในพวกเดียวกันเองกลับมีการแบ่งชนชั้น มีข้าที่มีสิทธิทางสังคมเทียบเท่าหรืออาจจะมีอภิสิทธิ์มากกว่าชนชั้นมูลนาย และ พวกข้าที่ไร้สิทธิแม้แต่ชีวิตของตนเองก็ใช้อย่างใจไม่ได้
ชนชั้น“ข้า” ในล้านนามี ๓ พวกใหญ่ ๆ
ข้าพวกแรกพบหลักฐานอยู่ในจารึกสมัยล้านนากว่า ๗๐ หลัก มีหน้าที่ดูแลรักษาศาสนา รวมถึงผลประโยชน์ของศาสนสถานที่ตนสังกัด เรียกว่า “ข้าพระ” “ข้าพระเจ้า” “ข้าวัด” ฯลฯ “ข้า” อีกพวกที่ไม่ถูกกล่าวถึงในจารึก แต่ถูกกล่าวถึงในเอกสารด้านกฎหมายของล้านนา เป็นพวกที่ “คนค้าข้า” (นายหน้าค้าข้า) นำพาไปซื้อขายได้เช่นเดียวกับสิ่งของ “ข้า” พวกที่สองนี้จึงมีความหมายตรงกับคำว่า “ทาส” ในสังคมยุคจารีตแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีและไม่อาจเรียกร้องค่าแรงจาก “เจ้าข้า” และ ถูกจำกัดสิทธิทางสังคมรวมทั้งทางกฎหมาย เช่น หากข้าฆ่าเจ้าข้าไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดมีโทษสถานเดียว คือ ประหารชีวิต และคำว่า “ข้า” ยังถูกใช้กล่าวถึงพวกคนรับใช้ที่อยู่ในเรือนของกลุ่มมูลนายไม่มีราคาซื้อขายหรือค่าตัว ได้รับค่าตอบแทนหรือสินจ้างเช่นเดียวกับ “บ่าว” ของสยาม ข้าพวกนี้อาจถูกเรียกว่า “ข้าไท” “ข้าไท” อีกด้วย
จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ ด้านที่ ๒ (วัดกุ่กุด)
พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ระบุว่ามีการถวายทาสชาย ๑๖ คน และทาสหญิง ๒๖
แก่ศาสนสถานแห่งหนึ่งปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย