การละเว้นใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ทำให้มีประชากรที่เรียกว่าทาสคงหลงเหลืออยู่ในล้านนา ปรากฏหลักฐานในจารึกฉลองพระวิหารหลวงเจ้าพูเพียงเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ กล่าวถึงผู้อยู่ใต้พระอาชญาพระเจ้านครเมืองน่าน ยังมีกลุ่มทาสาทาสี
หลักฐานเอกสารราชการของทางล้านนาและสยาม ได้สะท้อนให้เห็นว่ายิ่งนานวันกลุ่มเจ้านายในล้านนายิ่งเพิ่มความระมัดระวังในการแสดงบทบาทของตนเองที่จะไม่แสดงความขัดแย้งกับสยาม คงเพราะเกิดความเข้าใจว่า ท้ายที่สุดแล้วล้านนาต้องกลายเป็นดินแดนในปกครองของยุโรปหรือสยามไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง เพราะนอกเหนือจากความเคารพยกย่องของประชากรทั่วไปที่มีต่อเจ้านายตามจารีตที่สืบต่อกันมานาน กลุ่มเจ้านายไม่ได้มีอำนาจปกครองหรือสั่งการไพร่พล และเก็บผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรงเหมือนแต่ก่อน เมื่อเจ้าประกอบอาชีพอย่างอื่นก็ไม่ประสพความสำเร็จ จึงไม่อาจตั้งตนเป็นเอกเทศหรือสร้างเงื่อนไขเพื่อการต่อรองทางการเมืองกับทั้งล้านนาและชาติยุโรปมากนัก
ทำให้ในที่สุดโครงการเลิกทาสในล้านนาที่เคยถูกพักไปได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติลักษณทาษรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔” ในดินแดนล้านนาเดิม เนื่องจากทรงพระราชดำริว่าขณะนี้การซื้อขายตัวลงเป็นทาสในมณฑลพายัพก็คงมีแต่พวกที่เกิดก่อนวันที่ ๑๖ ธันวาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ เท่านั้น แต่กว่าที่คนเหล่านี้จะพ้นค่าตัวเป็นไทกินเวลาอีกหลายสิบปี ไม่ทันต่อความเจริญของบ้านเมืองและยุคสมัย ประกอบกับที่ผ่านมาได้มีการประกาศลดหย่อนค่าตัวทาสเป็นแบบแผน คนที่เคยมีทาสในล้านนาก็ไม่ได้รับความเดือดร้อน พระองค์ทรงวินิจฉัยว่าสมควรที่จะใช้ “พระราชบัญญัติลักษณทาษรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔” ในมณฑลพายัพได้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติลักษณทาษ ศก ๑๒๔ ในมณฑลพายัพ” พระราชบัญญัตินี้มีความสำคัญอยู่ที่การลดค่าตัวทาสในมณฑลพายัพตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๑ (พุทธศักราช ๒๔๕๕) เป็นต้นไป โดยให้ลดลงเดือนละ ๔ บาท ส่งผลทำให้ทาสหมดไปจากมณฑลพายัพอย่างรวดเร็ว เนื่องจากขณะประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ ทาสมีพิกัดค่าตัวทุกเมืองเท่ากัน คือ ชาย ๒๕ บาท และ หญิง ๓๒ บาท หากลดค่าตัวลงเดือนละ ๔ บาท ทาสชายจะเป็นไทได้ภายใน ๖ – ๗ เดือน ส่วนทาสหญิงก็จะพ้นจากความเป็นทาสภายใน ๘ เดือน เท่านั้น และ เมื่อทาสหมดค่าตัวเป็นไทแล้วก็มีคำสั่งห้ามมิให้ขายตัวเองเป็นทาสได้อีก
นักโทษในคดีกบฎเงี้ยวเมืองแพร่
โครงการเลิกทาสในดินแดนล้านนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองรัชกาลที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องกันมาระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ – ๒๔๕๕ ใช้เวลา ๑๒ ปี ทำให้ทาสเชลยตามประเพณีโบราณล้านนาที่จะต้องเป็นทาสไปจนสิ้นอายุขัย รวมไปถึงลูกหลานก็ต้องเป็นทาสเชลยไปไม่รู้จักจบสิ้น สามารถมีอิสรภาพในการเลือกใช้ชีวิตและเวลาไปตามหนทางของตนเอง ส่วนคนที่ยอมขายตัวลงเป็นทาสสินไถ่ก็หมดโอกาสที่จะขายตัวกลับลงเป็นทาสได้อีก คนที่รับเงินทองของนายเงินไว้ก่อนลงมือทำงานให้ก็เป็นเพียงลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างทำงานไปล่วงหน้าเท่านั้น