ผู้ศึกษามีความเห็นว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การก่อกบฏเงี้ยวไม่ประสพผลสำเร็จ เพราะการดำเนินโครงการเลิกทาสที่ทำให้ประชากรล้านนาจำนวนมากกลายเป็นอิสระชนหรือไพร่
โครงการนี้เข้ามาพร้อมกับของมิชชันนารีและชาวยุโรปที่นำความเจริญทางการแพทย์เข้ามาด้วย ผนวกกับบรรยากาศของการแข่งขันกันตั้งโรงเรียนในหลายพื้นที่ ทำให้ประชากรล้านนาโดยเฉพาะพวกที่เคยมีสถานภาพทางสังคมเป็นทาสมาก่อน เกิดความลังเลใจรวมทั้งอาจจะตั้งคำถามต่อสถานะทางอำนาจของกลุ่มเจ้านายที่เคยมีเหนือชีวิตของตนเพิ่มมากขึ้นทุกที เพราะพวกเขาได้รับรู้ข้อมูลและทัศนคติอย่างใหม่ที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยในสังคมล้านนายุคจารีต รวมถึงการที่สยามเปิดโอกาสให้ไพร่สามารถเรียนหนังสือและสอบเข้ารับราชการได้เช่นเดียวกับมูลนายโดยกำเนิด ส่งผลทำให้ความสัมพันธ์แบบจารีตระหว่างเจ้านายกับไพร่ลดลง จนเกิดกรณีที่ขุนนางระดับต่ำกล้าฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้านายที่ดำรงตำแหน่งเค้าสนามหลวงได้ โดยอาศัยกฎหมายสยาม ทาสล้านนาจึงไม่จำเป็นต้องร่วมมือกับพวกกบฎเพื่อจะได้เป็นอิสรชน
ต่อมา สถิติการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรในล้านนาที่ได้รับการปรับปรุงจนเข้ารูปเข้ารอยขึ้นทุกที ทำให้สยามมีเงินใช้ในราชการเพิ่มมากขึ้น แล้วมอบค่าตอบแทนกลับมาเป็นเงินเดือนให้แก่เจ้านายท้องถิ่น แทนผลประโยชน์ที่เคยได้รับโดยตรงจากการเก็บส่วย บริบททางสังคมเหล่านั้นคงจะลดแรงต้านทานการปฏิรูปการปกครองในล้านนาโดยสยามไปได้มาก
แต่เพราะผลจากการประกาศใช้“พระราชบัญญัติลักษณทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙” ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดกบฏเงี้ยวต่อต้านสยามดังกล่าว ทำต่อมาให้ไม่มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติลักษณทาษรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔”(วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๔๘) ที่มีสาระสำคัญ คือ ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทในทันที ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ลูกทาส ให้ลดค่าตัวลงเดือนละ ๔ บาท หากนายทาสจะขายทาสไปให้นายคนใหม่ ห้ามขายแพงกว่าค่าตัว พระราชบัญญัตินี้ได้ถูกกำหนดให้ใช้ทั่วพระราชอาณาจักร ยกเว้นมณฑลพายัพ (ชื่อใหม่ของมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ) กับมณฑลบูรพา ที่มีพระราชบัญญัติทาสสำหรับสองมณฑลไว้ต่างหากอยู่ก่อนแล้ว ส่วนมณฑลไทรบุรีกับเมืองกลันตัน และ เมืองตรังกานู โปรดให้ใช้กฎหมายตามลัทธิศาสนาของเมืองนั้น ๆ
เจ้าอุบลวัณณา เจ้าหญิงแม่เลี้ยงแห่งเชียงใหม่ ผู้ซึ่งโฮลต์ ฮาเลตต์ ระบุว่ามีข้าทาสนับไม่ถ้วน