ผู้เข้าชม
0
11 ธันวาคม 2567

เราจึงพบว่าบริเวณนี้เป็นที่พบกันระหว่างวัฒนธรรมสองแบบ แบบหนึ่งที่มาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน ตั้งแต่เวียดนามเหนือลงมาแล้วมาจากทางทะเลด้วย อีกทางหนึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มาจากอินเดีย ขณะที่เราพบลูกปัดเหล่านี้ ก็พบภาชนะอย่างหนึ่งที่เป็นภาชนะสำริดมีลวดลายประดับ เป็นรูปควาย เป็นรูปลวดลายสัญลักษณ์ และเป็นรูปผู้หญิงที่แสดงให้เห็นถึงในยุคนั้นคนที่อยู่ในช่วงของประวัติศาสตร์ในยุคเหล็ก ทรงผมเป็นแบบอินเดีย ไม่ใช่ล้าหลังอย่างที่เราคิด 

ชิ้นส่วนภาชนะแบบนี้จะพบอีกแห่งหนึ่งที่จอมบึง มีลวดลายของผู้หญิง เห็นทรวดทรงที่หน้าอกใหญ่ เอวคอด ซึ่งเป็นลักษณะสรีระของคนอินเดียโดยตรง หลักฐานต่างๆ เหล่านี้ทำให้เห็นชัดว่า อายุของอู่ทองและบริเวณใกล้เคียงมีอายุเข้าไปถึงตั้งแต่ ๒,๕๐๐ ปีลงมา แล้วยุคนี้เป็นยุคที่มีคนอินเดียเข้ามาในบริเวณนี้ ตรงกับยุคที่เราเรียกว่า ‘สุวรรณภูมิ’ เพราะเรื่องราวปรากฏอยู่ในตำนานในคัมภีร์โบราณของอินเดียที่พูดถึงสุวรรณภูมิ....’


ชิ้นส่วนภาชนะลวดลายของผู้หญิง เห็นทรวดทรงที่หน้าอกใหญ่ เอวคอด
พบที่จอมบึง

อาจารย์ศรีศักรชี้ว่า บริเวณ ‘คอกช้างดิน’ อยู่บริเวณตะวันตกของเมืองอู่ทองเป็นแหล่งที่สำคัญ ซึ่งเป็นจุดที่จะอธิบายให้เห็นถึงความเป็นสุวรรณภูมิและสิ่งที่ต่อเนื่องได้อย่างชัดเจน ผ่านดินดอนสามเหลี่ยมเก่าตั้งแต่ชัยนาทลงมาถึงสิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี เป็นดินดอนสามเหลี่ยมเก่า พบร่องรอยของเมืองโบราณสมัยทวารวดี ลพบุรีจากเขตนี้

‘….บริเวณนี้ในสมัยหลังเป็นเส้นทางคมนาคมโบราณ แม้กระทั่งการเดินทัพในสมัยพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาก็ต้องผ่านบริเวณนี้ ผ่านอู่ทองอ้อมไปยังเขตดอนเจดีย์เป็นเส้นทางโบราณ เมืองนี้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเส้นทางคมนาคม ตำแหน่งของเมืองอู่ทองเรือเข้ามาจอดเทียบท่าได้และเป็นแหล่งที่ชุมนุมทางที่มาจากทางเหนือ สินค้าต่างๆ จะมาจากทางนี้ทางตะวันตก จึงเป็นจุดที่มีคนอยู่มาตลอด

การตั้งถิ่นฐานอย่าไปมองที่ตัวเมืองอู่ทองแต่ควรดูที่ปริมณฑล ตรงลำน้ำจระเข้สามพัน ตรงนี้เป็นที่ราบลุ่ม มีแนวเส้นทางการเปลี่ยนปรับทางน้ำ โดยการใช้คันดินบีบน้ำไม่ให้ลงที่ราบลุ่มกว้างแต่บีบให้ลงจระเข้สามพัน เพราะมีการเปลี่ยนแปลง คันดินนี้เขาเรียก ‘ถนนท้าวอู่ทอง’ ใกล้กับบริเวณนี้มีซอกเขาที่ ‘เขาคอก’ มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญเรียกว่า ‘คอกช้างดิน’ เป็นการตีความของคนปัจจุบัน แต่ถ้ามองจากหลักฐานทางโบราณคดี อันนี้เป็นแทงค์น้ำหรือสระน้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีหลายแห่งในบริเวณนี้ แหล่งน้ำนี้เป็นแหล่งของชุมชนที่เป็นฮินดู เพราะว่าพบร่องรอยของโบราณสถานแบบฮินดูเต็มไปหมด ทำให้รู้ว่าเมืองอู่ทองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ลงมา เป็นเมืองที่เป็นนานาชาติ เพราะมีคนหลากหลายด้วยศาสนาและหลายถิ่นฐานเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เหมือนกับอยุธยา

เวลาสำรวจรอบๆ เมืองอู่ทอง มีชุมชนมากมายเหลือเกิน ตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิ ฟูนัน เรื่อยมาจนถึงทวารวดี แต่จะมารุ่งเรืองถึงขีดสุดก็คือในยุคของทวารวดี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓ จะเจริญมาก ก็จะเห็นการจัดการน้ำในบริเวณนี้ การที่พบคอกช้างก็ดี หรือแนวคันดินก็ดี ทำให้ได้ความว่า สมัยก่อนนี้เขามีการจัดการน้ำ น้ำจะมาจากที่สูง จะทำอย่างไรให้น้ำเหล่านี้มาใช้ในการอุปโภคบริโภคจึงทำแท้งค์น้ำขึ้นมา 

แล้วขณะเดียวกันลำน้ำจระเข้สามพันซึ่งไหลมานี้ มีการเปลี่ยนทางลงมาทางที่ราบลุ่มก็ทำคันดินเพื่อเบนน้ำให้เข้ามาสู่ที่เดิม น้ำเหล่านี้ก่อนที่จะแห้งลงไป พื้นที่ทั้งสองฝั่งใช้ในการปลูกข้าว ในการปลูกข้าวของคนสมัยโบราณไม่ใช่ปลูกข้าวนาปรังตามที่เห็น เป็นนาปี แล้วทำในลักษณะที่เรียกว่าเป็นนาทาม ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่ที่ลุ่มมาก เขาใช้คันดินกักไว้แล้วเขาก็ปลูกข้าว อันนี้จะปรากฏตามผังของเมืองโบราณเป็นจำนวนมาก