ผู้เข้าชม
0
11 ธันวาคม 2567

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ประมวลข้อมูลและสังเคราะห์แหล่งโบราณคดีคอกช้างดิน ผ่านภูมิวัฒนธรรม และการจัดการน้ำในสมัยโบราณ ไว้ว่า

‘….ในสมัยทวารวดี พบว่า ชุมชนโบราณมีการตั้งถิ่นฐานอยู่ ๒ แบบ คือ ที่ลาดเขาและที่ราบลุ่ม ซึ่งด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันจึงทำให้มีรูปแบบการจัดการน้ำที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่พื้นที่ลาดเขาใกล้กับตะพัง เดิมเคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์แต่ถูกซ้อนทับด้วยวัฒนธรรมแบบทวารวดีในสมัยต่อมา 

เมืองนี้พบว่ามีการสร้างสระน้ำและคูเมืองล้อมรอบเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและยังใช้เป็นตัวกำหนดขอบเขตของเมืองโบราณ ส่วนนอกเมืองออกไปยังพบการจัดการน้ำอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การกักเก็บน้ำใน ‘คอกช้างดิน’ ซึ่งเป็นวิธีการยกคันดินให้สูงขึ้นถึงสิบเมตรเพื่อใช้เก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยมีการสร้างทางน้ำจากบนเขาเชื่อมลงมาที่คอกช้างดินอีกทอดหนึ่ง

นอกจากนี้ ในพื้นที่ดังกล่าวยังมีการขุดพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และแสดงให้เห็นว่าเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพวกฮินดูในสมัยทวารวดี ในขณะที่ตัวเมืองโบราณอู่ทองนั้นเป็นเมืองพุทธศาสนาโดยมีศูนย์กลางของพื้นที่อยู่ที่เขาศักดิ์สิทธิ์บริเวณวัดเขาพระศรีสรรเพชรญารามในปัจจุบัน....’

สำหรับที่ตั้งของเมืองโบราณอู่ทอง ในความเห็นของอาจารย์ศรีศักร ก็คือศูนย์กลางของสุวรรณภูมิ มีโบราณสถานและวัตถุสิ่งของสนับสนุนมากกว่าที่อื่นๆ นอกจากตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่ข้ามคาบสมุทร จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียมายังฝั่งทะเลจีนในอ่าวไทย 

เนื่องจากชุมชนบริเวณเมืองอู่ทองมีพัฒนาการมาจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยทวารวดีที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนภายนอก ทั้งทางบก ทางเรือ โดยคงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘ – ๑๒ หลังจากนั้นจึงค่อยลดบทบาทเป็นเมืองรองจากนครปฐม ก่อนที่จะร้างไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยอาจารย์ศรีศักรได้เท้าความถึงการศึกษาตีความคอกช้างดินว่า คอกช้างดิน เดิมเริ่มแรกเชื่อกันว่าเป็นบริเวณที่จับหรือขังช้าง แต่เมื่อมีการศึกษาและวิจัยสภาพดิน จึงเห็นว่าน่าจะเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ในเมืองอู่ทอง

นอกเหนือจากโบราณสถานที่กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุนแล้ว สิ่งหนึ่งที่พบเห็นในแถบนี้เช่นเดียวกันคือ คอกช้างดิน ซึ่งแต่เดิมนั้นเข้าใจกันว่าเป็นที่กักขังช้าง แต่เมื่อมีการศึกษาลงลึก จึงพบว่าแท้จริงแล้วเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณในการเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในเมือง 

‘….เชิงเขารอบๆ ตรงเขตถ้ำเสือจะมีเนินดินสูงเรียกว่า คอกช้างดิน มี ๒ - ๓ คอกช้าง ลักษณะคอกช้างเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า บาราย ใช้เก็บกักน้ำไว้บนผิวดิน เพราะบริเวณอู่ทองนี้เป็นที่แล้งน้ำ จำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้ คือการทำคันดิน ทั้งชะลอน้ำ แยกน้ำ แบ่งน้ำ น้ำนี้เขาเน้นเป็นน้ำกินน้ำใช้ในเมือง ไม่ใช่น้ำเพื่อการเกษตรกรรม
 


เนินดินสูงเรียกว่า คอกช้างดิน หรือ โบราณสถานคอกช้างดิน
หมายเลข ๑