ผู้เข้าชม
0
11 ธันวาคม 2567

เพราะฉะนั้นกล่าวโดยสรุปกลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาคอก ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองโบราณอู่ทอง เป็นพื้นที่ทางโบราณคดีที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่ง เป็นกลุ่มโบราณสถานที่ร่วมสมัยกับเมืองโบราณอู่ทองและน่าจะมีความสัมพันธ์กับเมืองอู่ทอง ในฐานะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นที่ตั้งศาสนสถานและใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของศาสนาพราหมณ์

จากการสํารวจพื้นที่บริเวณนี้ได้พบโบราณสถานทั้งหมด ๒๐ กลุ่มใหญ่ด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือโบราณสถานที่สร้างด้วยดิน และโบราณสถานที่มีโครงสร้างก่อด้วยอิฐศิลาแลงและหิน โบราณสถานที่สร้างด้วยดินหรือที่เรียกกันว่า คอกช้างดิน มีจำนวน ๔ แห่ง ลักษณะคล้ายอ่างเก็บน้ำหรือบ่อน้ำมีคันดินล้อมรอบรูปร่างและลักษณะแตกต่างกันไป 
 


กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดินก่อด้วยอิฐ ศิลาแลงและหิน
 

 

จากรูปร่างและลักษณะของตัวโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่โต ทำให้ดูคล้ายคอกขังช้าง ประกอบกับจดหมายเหตุสมัยราชวงศ์เหลียงของจีนที่กล่าวถึงรัฐจินหลินและการคล้องช้างป่า ทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่าคอกช้างดินทั้ง ๔ แห่งนี้ เป็นเพนียดคล้องช้างหรือคอกขังช้างสมัยทวารวดี แต่หลักฐานจากการศึกษาทางด้านโบราณคดีที่ผ่านมาสามารถสรุปได้ว่า คอกช้าง ดินทั้ง ๔ แห่งนี้น่าจะใช้ประโยชน์ในการกักเก็บน้ำ หรือเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์มากกว่าที่จะใช้เป็นเพนียดหรือคอกขังช้าง

ส่วนโบราณสถานที่มีโครงสร้างก่อด้วยอิฐศิลาแลงและหิน ที่พบจำนวน ๑๖ กลุ่มนั้น จากการขุดค้นศึกษาที่ผ่านมา พบว่าโบราณสถานส่วนหนึ่งเป็นศาสนาสถานหรือเทวาลัยเนื่องในศาสนาพราหมณ์ และจากการขุดค้นศึกษาพื้นที่อยู่อาศัยบริเวณริมห้วยน้ำตกพุม่วงพบว่า พื้นที่บริเวณนี้ มีร่องรอยการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔
 


กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดินก่อด้วยอิฐ ศิลาแลงและหิน