ผู้เข้าชม
0
26 พฤศจิกายน 2567

เมื่อได้ประมวลภาพสัญลักษณ์จากแหล่งเพิงผาหน้าถ้ำในที่ต่างๆ ที่พบในดินแดนประเทศไทยมาวิเคราะห์อย่างคร่าวๆ แล้ว ก็พอแลเห็นพัฒนาการของระบบความเชื่อที่เรียกว่า ศาสนา-ไสยศาสตร์ [Magico-religious ritual] ที่เชื่อว่าสิ่งที่เป็นธรรมชาติในโลกมีจิตวิญญาณ [Animism] ที่สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสังคม

นั่นก็คือสังคมก่อนประวัติศาสตร์ของผู้คนที่เขียนภาพสีได้สะท้อนให้เห็นการมีคนสำคัญที่อาจเป็นหัวหน้าตระกูลและเผ่าพันธุ์ จากภาพของคนที่มีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดา รวมทั้งมีเครื่องประดับตกแต่งร่างกายหรือศีรษะที่โดดเด่นกว่าผู้อื่น อย่างเช่น ภาพเขียนสีที่เพิงผาถ้ำเขาจันทร์งาม ในเขตอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นภาพของคนที่มีทั้งหญิงและชาย สัตว์เลี้ยง และสัตว์ล่า อันสะท้อนให้เห็นถึงสังคมประเภทร่อนเร่ล่าสัตว์

ภาพสำคัญคือ ภาพชายร่างใหญ่กำลังโก่งธนู อันเป็นการแสดงอำนาจและอาการของการล่าสัตว์ ภาพเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ทางไสยศาสตร์ เพื่อความสำเร็จในการล่าสัตว์เป็นสำคัญ นับเป็นพิธีกรรมในเรื่องความอุดมสมบูรณ์อย่างหนึ่ง 

ในขณะที่ภาพมือแดงเป็นจำนวนมากที่ทับซ้อนกันหลายระยะเวลา ภาพสัตว์ เช่น วัวควาย และภาพสัญลักษณ์บางอย่างที่แหล่งโบราณคดีประตูผาของเขาลูกโดดในระหว่างอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และอำเภองาว แสดงให้เห็นถึงการชุมนุมของผู้คนเป็นจำนวนมากจากท้องถิ่นต่างๆ มาประกอบพิธีกรรมในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ร่วมกัน ซึ่งก็นับเนื่องในพิธีกรรมในระบบความเชื่อที่เรียกว่า Animism เหมือนกัน ทั้งนี้รวมไปถึงบรรดาเพิงผาที่อยู่ในเขตวัดพระพุทธบาทบัวบก ที่กรมศิลปากรไปเปลี่ยนเป็นอุทยานโบราณคดีภูพระบาท อีกหลายแห่งที่มีการเขียนรูปวัวควาย ช้าง และรูปเรขาคณิตแบบต่างๆ

การดำรงอยู่ของความเชื่อในเรื่อง Animism ดังกล่าวนี้ สืบมาจนถึงสมัยเหล็กเพราะแม้ว่าสังคมหลายแห่งในสมัยนี้จะมีพัฒนาการทางศาสนาและไสยศาสตร์ที่สูงกว่านี้ไปแล้วก็ตาม ดังเช่นภาพสลักขูดขีดที่ถ้ำผาลายภูผายนต์ จังหวัดสกลนคร ที่เปลี่ยนจากการเขียนสีมาเป็นการใช้เครื่องมือเหล็กขูดขีดไปบนหินแทน มีภาพต้นไม้ คน สัตว์และสัญลักษณ์แบบเรขาคณิตมากมาย ภาพสัญลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ภาพของควาย ซึ่งน่าจะเป็นทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ล่า

 

 

ในขณะที่ภาพสัญลักษณ์เรขาคณิตที่ดูเป็นอวัยวะเพศของสตรีและการแสดงความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างหญิง-ชาย สะท้อนให้เห็นถึงการทำพิธีเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ ดูเหมือนภาพบนผนังผาที่มีการขูดขีดด้วยเครื่องมือเหล็กที่แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ทางเรขาคณิตที่ยากแก่การถอดรหัสว่าหมายถึงอะไร แสดงให้เห็นถึงจินตนาการที่ซับซ้อนของคนสมัยเหล็กที่ยังดำรงความเชื่อในเรื่อง Animism ที่สำคัญนั้นอยู่ที่ผากระดานเลข ในเขตอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

อย่างไรก็ตาม บรรดาแหล่งภาพเขียนสีของคนก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็กรุ่นหลังๆ ที่เชื่อมต่อกับสมัยต้นประวัติศาสตร์หลายแห่งก็สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของระบบความเชื่อจาก Animism มาเป็นความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติที่สูงกว่าที่เรียกว่า Supernaturalism ความต่างกันระหว่างความเชื่อและศาสนาสองระดับนี้ก็คือ
 


ภาพเขียนสีที่เพิงผาถ้ำเขาจันทร์งาม ในเขตอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
ที่มา: ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย