ผู้เข้าชม
0
26 พฤศจิกายน 2567

เหตุที่แหล่งพิธีกรรมในระบบความเชื่อของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มักอยู่ในบริเวณที่เป็นกลางไม่เป็นของชุมชนใดชุมชนหนึ่งนั้น ก็เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของคนก่อนประวัติศาสตร์สมัยแรกๆ หาได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในพื้นที่เดียวกันไม่ หากมีการกระจายกันอยู่เป็นกลุ่มของครอบครัวและเครือญาติตามบริเวณต่างๆ ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตน แหล่งที่เกี่ยวกับความเชื่อที่ใกล้ตัวก็มักจะเป็นแหล่งป่าช้าหรือหลุมศพเท่านั้น โดยเหตุนี้จึงพบหลุมศพและแหล่งที่เป็นป่าช้ามากกว่าแหล่งประกอบพิธีกรรมในรอบปี และอื่นๆ ที่เป็นส่วนร่วมของท้องถิ่น

ยิ่งกว่านั้นบริเวณที่ทำพิธีมักจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ผู้คนเห็นและจินตนาการพ้องกันว่า มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับพลังเหนือธรรมชาติ ดังเช่น เพิงผาหน้าถ้ำ ยอดดอย หรือต้นน้ำลำธาร และแหล่งที่มีน้ำสบกันเป็นน้ำวนหรือน้ำเชี่ยว บริเวณที่มีสภาพแวดล้อมแปลกไม่เหมือนที่อื่นๆ เป็นต้น 
 


ภาพเขียนสีมนุษย์กับสัตว์ สันนิษฐานว่าเป็นวัว
ที่มา: กรมศิลปากร-ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม

 

ความโดดเด่นของสถานที่และสภาพแวดล้อมดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ผู้คนในสมัยหลังๆ เห็นพ้อง จึงสืบเนื่องเป็นความทรงจำในรูปของตำนานที่เกี่ยวกับชื่อของสถานที่และเหตุการณ์เรื่อยมา ดังเห็นได้จากการเล่าขานกันในตำนานท้องถิ่นและการทำให้แหล่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น สืบเนื่องเป็นวัดหรือเป็นสถานที่เพื่อจาริกแสวงบุญมาจนถึงปัจจุบัน….’

ดินเทศสีแดงที่ถูกบดเพื่อใช้โรยในพิธีกรรมและนำมาเป็นสีเพื่อเขียนภาพ อาจารย์ศรีศักร ได้อธิบายถึงพิธีกรรมสัมผัสกับพลังเหนือธรรมชาติที่สถิตอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ของสถานที่และสภาพแวดล้อม

‘….หลักฐานร่องรอยของการใช้สีแดงเห็นได้จากการฝังศพที่มีมาแต่สมัยหินกะเทาะเช่นที่ถ้ำพระในเขตจังหวัดกาญจนบุรี มีการใช้ดินเทศที่มีสีแดงโรยศพซึ่งแสดงให้เห็นว่าสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของพลังชีวิตให้กับคนที่ตาย ทำให้ตีความได้ว่า คนในสมัยนั้นมีความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณที่ว่าเมื่อตายแล้ววิญญาณก็ยังดำรงอยู่ แต่ความชัดเจนในเรื่องสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ได้เห็นชัดในสมัยหลังลงมาคือ ยุคโลหะที่เริ่มแต่สมัยก่อนเหล็ก (ประมาณก่อน ๒,๕๐๐ ปีขึ้นไป และหลังลงมา) นั่นก็คือ การเกิดภาพเขียนสีขึ้นตามผนังถ้ำและเพิงผา ซึ่งนักโบราณคดีไทยแบบกรมศิลปากร เรียกว่า ศิลปะถ้ำ เพราะเน้นความสำคัญที่รูปแบบมากกว่าความหมาย

ภาพเขียนสีที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อพื้นฐานของคนที่สำคัญก็คือ ภาพมือแดง ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยก่อนเหล็กจนถึงยุคเหล็กเป็นภาพที่แสดงถึงการที่ผู้คนที่มาร่วมพิธีกรรมสัมผัสกับพลังเหนือธรรมชาติที่สถิตอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ของสถานที่และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเพิงผาที่เป็นหิน ความเชื่อที่ว่าสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เช่น หิน น้ำ ต้นไม้ และอื่นๆ มีจิตวิญญาณนี้ เป็นสิ่งที่เรียกว่า Animism ซึ่งนับเป็นพัฒนาการในระยะแรกเริ่มของศาสนาและไสยศาสตร์ เพราะพิธีกรรมที่ผู้คนจากที่หลากหลายในท้องถิ่นมาประกอบร่วมกันนั้น เป็นสิ่งที่แสดงการสยบต่ออำนาจเหนือธรรมชาติอันเป็นการแสดงอาการทางศาสนา แต่ในการประกอบพิธีกรรมก็มีอาการทางไสยศาสตร์ผสมผสานอยู่ 

ดังเห็นจากสัญลักษณ์อื่นๆ เป็นแบบเรขาคณิตที่ไม่เหมือนธรรมชาติ และภาพคน-สัตว์-สิ่งของ-ต้นไม้ที่เป็นธรรมชาติเพื่อเรียกร้องและบังคับให้อำนาจที่อยู่ตามสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมารับใช้พวกตนในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ความปลอดภัย และความมั่นคงของชีวิต ดังนั้น ภาพที่เห็นจากการประกอบพิธีกรรมในระบบความเชื่อจึงมีลักษณะทั้งศาสนาและไสยศาสตร์ผสมกัน [Magico-religious practice]