หลักฐานและร่องรอยพัฒนาการทางสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาโบราณคดีของอาจารย์ศรีศักร ซึ่งท่านพอสรุปได้ว่า ในดินแดนประเทศไทย แม้จะมีพัฒนาการของมนุษย์มาแต่สมัยก่อนคน จนมาถึงสมัยเป็นคนในยุคหินกะเทาะ อันเป็นสังคมมนุษย์แบบเร่ร่อนตามฤดูกาล จนถึงสมัยหินใหม่อันเป็นยุคที่เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานติดที่ [Sedentary settlements] มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์นั้น ยังเป็นยุคสมัยที่มีผู้คนอาศัยในดินแดนประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น้อยมาก การตั้งหลักแหล่งจึงเป็นกลุ่มเล็กๆ และกระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลกัน
เมื่อลำดับพัฒนาการของสังคมบ้านเมืองและรัฐ ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาสนาของผู้คนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้น จะนับเนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีที่มีมาแต่สมัยหินเก่า หินกะเทาะ หินใหม่ มาจนถึงสมัยยุคก่อนเหล็กเป็นสำคัญ
‘....โดยเฉพาะในสมัย ๓,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปี ลงมานั้น พบหลักฐานทางพิธีกรรมในระบบความเชื่ออย่างชัดเจน ๒ ประการใหญ่ๆ คือ ภาพเขียนสีและโลงไม้ที่ขุดจากลำต้นไม้ขนาดใหญ่ เรื่องภาพเขียนสีบนเพิงผานั้น มักถูกมองโดยนักโบราณคดีไทยของกรมศิลปากรว่า เป็นศิลปะถ้ำอะไรทำนองนั้น จึงเป็นการมองแต่เพียงรูปแบบทางศิลปะไป ทั้งๆ ที่ในแง่คิดทางมานุษยวิทยานั้น สิ่งเหล่านี้ (ภาพเขียนสีและโลงไม้) คือผลผลิตจากระบบความเชื่อของผู้คนในสังคมที่เป็นเจ้าของอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะภาพเขียนสีเหล่านั้นมิได้เกิดขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดของปัจเจกบุคคลแบบปัจจุบันที่มองว่าศิลปะเป็นไปเพื่อศิลปะ [Art for art sake] หากแต่เป็นภาพทางสัญลักษณ์ที่สื่อสารกันได้ทั้งกลุ่มชนในสังคม
ภาพที่เขียนขึ้นมีทั้งที่เป็นรูปเรขาคณิตแบบต่างๆ ซึ่งยากที่จะเข้าถึงในเรื่องความหมายว่าหมายถึงอะไร ภาพมือแดงที่พบเกือบทุกแห่ง ภาพสัตว์นานาชนิดซึ่งมีทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า และคน มีทั้งภาพที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่กันเป็นกลุ่มร่วมกันทำกิจกรรม และมีทั้งภาพที่แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของบุคคลสำคัญ เป็นต้น ภาพเหล่านี้มีทั้งที่ขูดเขียนโดยบุคคลที่เป็นผู้ชำนาญและเขียนตามประสาคนเขียนไม่เป็นของบรรดาผู้คนที่มาร่วมในงานประเพณีพิธีกรรม....’
อาจารย์ศรีศักร อรรถาธิบายว่า หลักฐานในบริเวณเพิงผาหน้าถ้ำตามที่กล่าวมาแล้วนี้ มีพบในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็นับเป็นการยืนยันให้เห็นความคิดของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอะไรๆ เหมือนกัน
‘….ความคิดในการเลือกแหล่งทำพิธีกรรมทางศาสนานี้ สืบเรื่อยมาจนกระทั่งยุคสำริด ยุคเหล็กและยุคต้นประวัติศาสตร์ทีเดียว อย่างเช่น เพิงผาที่ผาแต้ม ริมแม่น้ำโขงในเขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เพิงผาที่ประตูผา จังหวัดลำปาง ซึ่งนับได้ว่ามีขนาดและอาณาบริเวณใหญ่โตมาก หรือในเขตภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็มีที่เพิงผาวัดพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี เป็นอาทิ
เพิงผาวัดพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี