วิวัฒนาการของการทอผ้าในประเทศไทย ได้อ้างอิงถึงภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ เช่น ที่เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี ว่ามีรูปมนุษย์โบราณกับสัตว์เลี้ยง เช่น ควายและสุนัข แสดงว่า มนุษย์ยุคนั้นรู้จักเลี้ยงสัตว์แล้ว ลักษณะการแต่งกายของมนุษย์ยุคนั้น ดูคล้ายกับจะเปลือยท่อนบน ส่วนท่อนล่างสันนิษฐานว่า จะใช้หนังสัตว์ หรือผ้าหยาบๆ ร้อยเชือกผูกไว้รอบๆ สะโพก บนศีรษะประดับด้วยขนนก
ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ คณะสำรวจจากงานวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ร่วมด้วยภัณฑารักษ์จากกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้มาสำรวจเก็บข้อมูล และบันทึกภาพแหล่งศิลปะถ้ำเขาปลาร้าแห่งนี้ ข้อมูลเหล่านี้ได้ใช้เป็นบรรทัดฐานในการศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งศิลปะถ้ำอื่น ๆ และการวิเคราะห์ตีความเรื่องราวของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของอุทัยธานี ซึ่งตีพิมพ์เป็นบทความทางวิชาการหลายชิ้น
โดยจัดให้เป็นศิลปะเพื่อพิธีกรรม และได้แบ่งภาพลงสีออกย่อยเป็น ๑๔ กลุ่ม เพื่อสะดวกแก่การอธิบายถึงการแสดงออกที่มีลักษณะร่วมกัน คือเป็นภาพที่แสดงลักษณะการเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่อยู่ในท่ากระโดดโลดเต้นและร่ายรำ รูปคนและสัตว์ เน้นถึงการตกแต่งร่างกาย อันเป็นเครื่องหมายของการเข้าร่วมพิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อพิจารณาภาพทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง จะมองดูคล้ายริ้วขบวนแห่ มีการเริงระบำกับแสดงกิจกรรมของแต่ละกลุ่มเรียงไล่กันลงมา ขนาดของคนในขบวนไม่เพียงแต่เน้นความสำคัญของแต่ละบุคคลที่ต่างกันแล้ว แต่ยังให้เกิดมิติ คือเป็นระยะใกล้ไกลของภาพอีกด้วย
รูปลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในภาพสัมพันธ์กัน เมื่อประกอบกับรายละเอียดต่างๆ ที่เจตนาแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นคนตัวใหญ่เดินนำหน้าถือธัญพืชอย่างหนึ่ง มีผู้หญิงตั้งครรภ์ร่ายรำอยู่ด้วยกัน พร้อมด้วยสุนัขซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงและสัญญาณอย่างหนึ่งของการตั้งถิ่นฐานถาวรแบบสังคมเกษตรกรรม ภาพคนกับวัวที่แสดงความสัมพันธ์กัน ตั้งแต่คนจูงวัว คนไถนา มีขบวนแหนแห่เริงระบำประกอบตลอดจนท่าเต้นที่เลียนแบบลีลาสัตว์ การต่อสู้กับกระทิงเหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนถึงภาพพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ (fertility rite) เป็นสำคัญ
เข้าใจว่ามีพิธีกรรมเพื่อการเกษตรกรรมเป็นหลักคล้ายๆ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญของชุมชนเกษตรกรรมในสมัยประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ดี ภาพการต่อสู้วัวกระทิงก็เน้นให้เห็นว่า ชุมชนเจ้าของศิลปะถ้ำที่เขาปลาร้ายังคงมีการเข้าป่าล่าสัตว์อยู่ด้วย จากเรื่องราวที่ปรากฏในศิลปะถ้ำ ประกอบกับโบราณวัตถุที่พบในบริเวณนี้ เปรียบเทียบกับหลักฐานทางโบราณคดีในแหล่งใกล้เคียงและแหล่งอื่นๆ ที่ได้กำหนดอายุไว้ จึงสันนิษฐานว่า ศิลปะถ้ำเขาปลาร้า เป็นการรังสรรค์ศิลปะของกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ ๕,๐๐๐ ถึง ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๑ กรมศิลปากรเคยมาทำการขุดค้นที่เขานาค ตำบลเขาขี้ฝอย อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี และจากการขุดค้นในครั้งนั้นได้พบหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีหลายอย่าง เช่น โครงกระดูกมนุษย์ เศษเครื่องปั้นดินเผา ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว กำไลหิน กำไลสำริด แวดินเผา ลูกกระสุนดินเผา เศษเครื่องประดับสำริด เปลือกหอยกาบ กระดูกและเขาสัตว์ ฯลฯ

ภาพเขียนสีมนุษย์ สันนิษฐานว่าใช้หนังสัตว์ ผ้าหรือเชือกผูกไว้รอบสะโพก