การยืนยันถึงความเป็นเมืองท่าพาณิชย์นาวีของแหลมโพธิ์ที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือทางการวิจัยทางภูมิวัฒนธรรม คือ เครื่องถ้วยจีนพบจากการขุดค้นทางโบราณคดี ณ โบราณสถานวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
จากการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี โบราณสถานวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญหลายประการ เช่น แนวอิฐ ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินกึ่งมีค่า ชิ้นส่วนเครื่องแก้วสีเขียว อิฐบัว อิฐดินเผา ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินมีลายกดประทับ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙) ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐) เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒) ที่น่าสนใจคือพบว่าชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่โบราณสถานที่ต่อเนื่องยาวนานหลายสมัย จากการขุดค้นพบเครื่องถ้วยจีนทั้งหมด ๑๐๖ ชิ้น สามารถกำหนดอายุได้ ๓ สมัย ได้แก่
๑. สมัยราชวงศ์ซ่ง พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙ ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาเคลือบสีเขียว มีแหล่งผลิตจากเตาถงอัน มณฑลฝูเจี้ยน และเตาหลงเฉวียน มณฑลเจ้อเจียง โดยการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาในระยะนี้มักพบบริเวณภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย
๒. สมัยราชวงศ์หยวน พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาเคลือบสีเขียว มีแหล่งผลิตจากเตาหลงเฉวียน มณฑลเจ้อเจียง โดยการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาในระยะนี้มักพบบริเวณภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทยมากกว่าภาคใต้ ซึ่งก็สอดคล้องกับจำนวนเครื่องถ้วยจีนที่พบในหลุมขุดค้นที่มีปริมาณน้อยสุดในบรรดาราชวงศ์ต่างๆ ที่กำหนดอายุได้
๓. สมัยราชวงศ์หมิง พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒ ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาประเภทลายคราม โดยมีแหล่งผลิตจากเตาผิงเหอ มณฑลฝูเจี้ยน และเตาจิ่งเติ๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี โดยการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาในระยะนี้มักพบบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทย
จากการขุดค้นพบเครื่องถ้วยจีนดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างโบราณสถานวัดหลง กับจีนสมัยราชวงศ์สุ้งถึงสมัยราชวงศ์หมิง รวมทั้งชุมชนโบราณร่วมสมัยแห่งอื่นๆ ทั้งในอำเภอไชยา และในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย เช่น โบราณสถานวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา คลองท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเมืองสทิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีการค้นพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์สุ้งและสมัยราชวงศ์หยวน
นอกจากนี้ ด้วยลักษณะทำเลที่ตั้งของโบราณสถานวัดหลงซึ่งตั้งอยู่ริมเส้นทางน้ำ ยังเหมาะสมต่อการตั้งชุมชน (โดยพบว่าชุมชนสำคัญในไชยามักตั้งถิ่นฐานอยู่บนแนวสันทรายไชยา และแนวลำคลองไชยา เช่น วัดพระบรมธาตุไชยาฯ วัดแก้ว วัดเวียง และวัดศาลาทึง) และเอื้อต่อการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนโบราณแห่งอื่นๆ ทั้งในอำเภอไชยา และชุมชนภายนอกจากที่เข้ามาทางฝั่งทะเลตะวันออก โดยมีแหลมโพธิ์เป็นเมืองท่าการค้าสำคัญซึ่งสามารถติดต่อกับต่างชาติได้โดยตรง เนื่องจากอยู่ริมชายฝั่งทะเล และมีบริเวณที่เป็นอ่าวขนาดใหญ่ซึ่งเหมาะแก่การจอดเรือสินค้า ทำให้มีโอกาสรับวัฒนธรรมที่หลากหลายจากบ้านเมืองภายนอกเข้ามา