ผู้เข้าชม
0
4 พฤศจิกายน 2567

จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นสิ่งของแลกเปลี่ยนทางการค้าภายในแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ดังกล่าวมานั้น แสดงให้เห็นถึงบทบาทการเป็นเมืองท่าริมชายฝั่งทะเลที่มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนภายนอกทั้งจากซีกโลกตะวันออกและซีกโลกตะวันตก ทั้งอินเดีย จีน และตะวันออกกลาง รวมทั้งชุมชนร่วมสมัยในภูมิภาค และนอกจากนั้นหลักฐานที่พบยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ในฐานะเมืองท่าบนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรในสมัยศรีวิชัย หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๘ ด้วย….’

เมื่อมาพิจารณาถึง ‘เส้นทางศรีวิชัย: เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเกี่ยวกับสมาพันธรัฐศรีวิชัย’ โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน ได้ค้นคว้าเอกสารแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่สมาพันธรัฐศรีวิชัย โดยแบ่งเป็น ๔ พื้นที่ ๑. แหลมมลายู ๒. เกาะสุมาตรา ๓. เกาะชวา และ ๔. นอกเขตสมาพันธรัฐศรีวิชัย โดยมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับแหลมโพธิ์
 


โบราณสถานวัดแก้ว (วัดรัตนาราม) ตั้งอยู่ในตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
จังหวัดสุราษฎร์ธานี

‘….ในแหลมมลายูมีการค้นพบโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยในหลายจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เช่น ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีแหล่งโบราณคดี ๒ แหล่งใหญ่ๆ คือ ครหิ (ไชยา) และปัน-ปัน (แม่น้ำตาปี) ในไชยามี วัดพระบรมธาตุไชยาเป็นโบราณสถานสมัยศรีวิชัยที่ค่อนข้างสมบูรณ์ วัดแก้ว วัดหลง วัดหัวเวียง และคลองพุมเรียง และแหลมโพธิ์ ในอำเภอไชยารอบบริเวณเมืองครหิ จอห์น มิกซิค เชื่อว่าหลักฐานในแหลมโพธิ์ที่บอกว่าแหลมโพธิ์เป็นท่าเรือของไชยาได้ถูกแทนที่โดยนครศรีธรรมราช เขาศรีวิชัยในอำเภอพุนพินและอำเภอเวียงสระรอบบริเวณเมืองปัน-ปัน ในจังหวัดนครศรีธรรมราช....’ 

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญในการยืนยันถึงความเป็นเมืองท่าทางพาณิชย์นาวี คือ ซากเรือบ้านคลองยวน สำรวจพบที่บ้านเลขที่ ๑๑๙/๒ หมู่ที่ ๘ บ้านคลองยวน ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนางพรพิมล มีนุสรณ์ เจ้าของบ้านเล่าว่าได้พบซากเรือไม้ในที่ดินของตนเองระหว่างการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำใช้ทำสวนปาล์มและได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยการก่อพื้นเทปูนมุงหลังคาคลุมซากเรือลำนี้ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ 
 


โบราณสถานวัดหลง ตั้งอยู่ในตำบลตลาด อำเภอไชยา
จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ภาพมุมสูง)