ผู้เข้าชม
0
4 พฤศจิกายน 2567

สำหรับแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ มีการเข้ามาศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานทางโบราณคดีครั้งสำคัญ เช่น การขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากรในปี พ.ศ.๒๕๒๕ พบหลักฐานสำคัญที่สนับสนุนบทบาทการเป็นเมืองท่าการค้าในสมัยศรีวิชัยของแหลมโพธิ์ เช่น เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง เครื่องถ้วยเปอร์เซีย ภาชนะดินเผาลายซี่ฟันเฟือง (rouletted ware) ของอินเดีย ขวดแก้วอาหรับ และลูกปัดซึ่งพบทั้งลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว 

การดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ – ๒๕๓๒ ในโครงการศึกษาการตั้งถิ่นฐานและการค้าสมัยโบราณในประเทศไทย หรือ PASTT (Program for Ancient Settlement and Trade in Thailand) ซึ่งได้เข้ามาขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ และแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก จังหวัดพังงา เพื่อศึกษาเส้นทางการค้าสมัยโบราณและเพื่อหาหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับอินเดียและตะวันออกกลาง ผลการขุดค้นในครั้งนี้พบความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ และแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่เหมือนกัน เช่น เครื่องถ้วยจีน เครื่องแก้ว ภาชนะเคลือบจากตะวันออกกลาง และลูกปัด 

นอกจากนั้น จากการศึกษาในครั้งนั้นยังมีการระบุว่ามีการค้นพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถังในแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ และแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากไม่นับรวมที่แหล่งโบราณคดีเมนไท ศรีลังกา แล้วก็ถือได้ว่าที่แหลมโพธิ์และทุ่งตึกพบเครื่องถ้วยจีนมากกว่าแหล่งเมืองท่าแห่งอื่นๆ ทั้งในภาคกลางของไทย สุมาตรา ชวา ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๖๔ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช โดยกลุ่มโบราณคดี ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาชุมชนโบราณในเส้นทางข้ามคาบสมุทรในภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย เพื่อตรวจสอบร่องรอยหลักฐานทางโบราณของเมืองโบราณไชยาซึ่งตั้งอยู่ในเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร และศึกษาลำดับพัฒนาการทางวัฒนธรรม ทั้งด้านการค้า ศาสนา และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองโบราณไชยา โดยทำการขุดค้นตามพื้นที่ต่างๆ ในเมืองไชยา รวมถึงแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ 

การขุดค้นในครั้งนั้นได้ทำการขุดค้นศึกษาจำนวน ๒ หลุมขุดค้น ผลการขุดค้นพบหลักฐานโบราณคดี เช่น ลูกปัดแก้ว ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ รูปแบบที่พบ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนเนื้อแกร่งและเคลือบเขียว และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนเนื้อแกร่งมีการแต่งลายเซาะร่องและเคลือบเขียว และอิฐดินเผา 

จากการขุดค้นดังกล่าวจึงช่วยสนับสนุนบทบาทการเป็นเมืองท่าการค้าในสมัยศรีวิชัยของแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากหลักฐานดังกล่าว จากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่ผ่านมายังพบหลักฐานที่เป็นสิ่งของแลกเปลี่ยนทางการค้าภายในแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์อีกจำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้าชาวอินเดีย จีน และตะวันออกกลาง ในสมัยศรีวิชัย หลักฐานที่พบ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งพบหลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่องถ้วยจีนแบบฉางชา ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ มีการเขียนลายที่ก้นภาชนะเป็นภาษาอาหรับ อ่านว่า อัลเลาะห์ 
 


เครื่องถ้วยจีนแบบฉางชา เขียนลายที่ก้นภาชนะเป็นภาษาอาหรับอ่านว่า อัลเลาะห์
ที่มา: Facebook-สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช