ผู้เข้าชม
0
4 พฤศจิกายน 2567

เพราะฉะนั้นจากการเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำลำคลองที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าใด ยกเว้นการตื้นเขินของลำน้ำในปัจจุบัน เมืองโบราณบนสันทรายสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยนั้น คือเมืองท่าที่เป็นนครรัฐ ซึ่งมักจะอยู่ห่างจากทะเลเข้ามาภายใน  เช่น บรรดาเมืองท่าทั้งหลายในสมัยโบราณ และเรือทะเลที่จะเข้ามาถึงก็คงไม่ใช่สำเภาขนาดใหญ่ หากเป็นบรรดาเรือขนาดเล็กที่เดินทางตามชายฝั่งและสามารถเข้าไปตามลำน้ำใหญ่ถึงบ้านเมืองที่อยู่ภายในที่ราบลุ่มน้ำลำคลองได้  

ปัจจุบันมีการพบซากเรือดังกล่าวหลายแห่งทางภาคใต้ เช่นที่คลองท่อมและอ่าวบ้านดอน ที่ข้าพเจ้าได้เห็นมามี ๒ แห่ง คือที่เมืองเวียงสระแห่งหนึ่ง และที่ก้นลากูนในเขตตำบลทุ่ง อำเภอไชยา เป็นเรือขนาดยาว ๑๕ เมตร และกว้าง ๓.๕๐ เมตร ที่มีรูเจาะและใช้เดือยไม้แทนตะปูเพื่อการยึดโยงองค์ประกอบของเรือ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบรรดาเรือเดินทะเลเหล่านี้จะไม่ใช้เหล็กหรือตะปูตอกยึดส่วนประกอบแต่อย่างใด 
 


ซากเรือจมบ้านคลองยวน ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่มา: 
กรมศิลปากร-เรือบ้านคลองยวน

เรือดังกล่าวทำด้วยไม้ตะเคียนและใช้เชือกที่ทำจากใยมะพร้าวเหมือนกับเชือกมะนิลาในการผูกติด เรือที่พบที่ก้นลากูนที่ตำบลทุ่งอยู่ในสภาพดีกว่าที่เวียงสระซึ่งอยู่ในสระน้ำ ที่สำคัญคือเมื่อพบยังมีชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ถัง ๒-๓ ชิ้นภายในเรือ เป็นเครื่องยืนยันอายุของเรือในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ อันนับเนื่องในสมัยศรีวิชัยยุครุ่งเรืองที่มีการค้าขายกับจีน 

จากการศึกษาทางภูมิวัฒนธรรม เรือลำนี้พบในพื้นที่ไม่ไกลจากฝั่งทะเลซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออก เพราะมีแนวสันทรายขวางกั้น แต่พบในพื้นที่เป็นเวิ้งน้ำเก่าของลากูนที่ปากน้ำออกทะเลไปอยู่ที่ปากคลองพุมเรียง ซึ่งมีแหล่งนำเรือออกขนถ่ายสินค้าอยู่ที่แหลมโพธิ์ และมีชุมชนโบราณอยู่ทางฝั่งเมืองไชยาเก่าตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นก็คือหนึ่งในเรือที่เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีทั้งสอง โดยเข้าไปจากทางปากคลองใหญ่พุมเรียง หรืออีกนัยหนึ่งตรงปากลากูนแล้วเข้าไปจนถึงก้นลากูนในเขตตำบลทุ่ง

ส่วนเรือลำที่พบที่เวียงสระเหลือให้เห็นเพียงกระดูกงูและชิ้นส่วนอื่นๆ เล็กน้อย แต่ก็ชี้ให้เห็นว่ามีความยาวราว ๑๕ เมตร และมีการเจาะใส่เดือยไม้แทนตะปูเช่นที่พบที่ไชยา ถึงแม้ว่าจะไม่พบเต็มลำ แต่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรือขึ้นล่องตามลำน้ำ จากปากแม่น้ำตาปีเข้ามาเมืองเวียงสระที่อยู่ห่างจากปากแม่น้ำที่อ่าวบ้านดอนราว ๖๒ กิโลเมตร....’

‘….ชุมชนเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองโบราณสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยบนสันทรายเก่าก็คือ แหลมโพธิ์ อันเป็นแหล่งท่าจอดเรือและขนถ่ายสินค้า ต่ำจากไชยาลงไปทางใต้ที่อยู่บริเวณอ่าวบ้านดอนตอนกลาง ที่มีแม่น้ำใหญ่ ๒ สายมาออกทะเล คือแม่น้ำพุมดวงหรือแม่น้ำคีรีรัฐ กับแม่น้ำหลวงหรือแม่น้ำตาปี ที่ลำคลองพุนพินมีเมืองอยู่ที่เขาศรีวิชัย อันเป็นแหล่งศาสนสถานฮินดู-พุทธ ที่มีอายุแต่สมัยทวารวดีลงมาจนถึงสมัยศรีวิชัย เป็นบริเวณที่เรือสินค้าเข้ามา เป็นแหล่งที่พบลูกปัดและสินค้าที่มาจากเมืองชายทะเลฝั่งอันดามันที่เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า นับเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรสำคัญที่กล่าวมาแล้ว

เมืองที่เขาศรีวิชัยนี้ดูคล้ายกันกับเมืองที่แหลมโพธิ์ปากคลองพุมเรียง แต่เมืองใหญ่และสำคัญไปอยู่ที่ควนสราญรมย์ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน เป็นแหล่งที่พบศาสนสถานสมัยศรีวิชัย เมื่อขุดแต่งแล้วพบพระพิมพ์ดินเผาและพระพิมพ์ดินดิบมากมายหลายรูปแบบ ที่เป็นการผสมผสานของศิลปะแบบทวารวดีที่นครปฐมและเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลางกับศิลปะชวา กลายเป็นศิลปะที่เรียกว่า ศรีวิชัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา….’