การศึกษาทางด้านโบราณคดีของเมืองไชยา โดยการสำรวจและขุดค้นบริเวณแหลมโพธิ์ ทำให้ทราบถึงการพัฒนาของชุมชนโบราณเมืองไชยาได้เป็นอย่างดี ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บริเวณเมืองไชยานั้นมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ การตั้งชุมชน เมืองยุคติดต่อทางวัฒนธรรมกับภายนอก ยุคติดต่อสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับต่างชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
จากหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่ได้จากการสำรวจขุดค้นบริเวณแหลมโพธิ์ จะเห็นได้ว่าพบเครื่องถ้วยพื้นเมือง เครื่องถ้วยจีน ลูกปัด เศษแก้วอาหรับ เป็นจำนวนมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งที่ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นสถานีการค้า และมีความสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่พุมเรียง บริเวณสันทรายเมืองไชยา อันเป็นที่ตั้งของโบราณสถานวัดแก้ว วัดหลง และวัดเวียง
สำหรับโบราณวัตถุต่างๆ ยังพบกระจัดกระจายทั่วไปบริเวณคาบสมุทร อาทิ บริเวณเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา, ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่, ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
ขวานหินขัดรูปแบบต่างๆ พบจากอำเภอไชยา
จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา
นอกไปจากนั้นยังพบบริเวณภาคตะวันออกกลาง ที่เมืองซีราฟ บริเวณอ่าวเปอร์เซีย เมืองนิชาปูร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเปอร์เซีย บริเวณชวาภาคกลาง เช่นที่ จันทิปราบานัน จันทิบุโรพุทโธ บูเก็ต เซกุนตัง เกาะสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย และบริเวณบริเวณทางเหนือของประเทศศรีลังกาอีกด้วย น่าสังเกตว่าจากการขุดค้นนั้น พบเครื่องถ้วยจีนและเปอร์เซียที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ไม่พบเครื่องถ้วยที่อยู่ในรุ่นหลังกว่านี้ จึงมีการตั้งข้อสมมติฐานว่า ได้มีการย้ายสถานีการค้าของฝั่งทะเลด้านตะวันออกจากแหลมโพธิ์ไปยังบริเวณอื่นของคาบสมุทร หรือภูมิภาคอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคต่อมา
นอกไปจากนั้นยังพบเครื่องมือหินแบบต่างๆ บริเวณตำบลปากหมาก ใกล้ต้นน้ำคลองไชยา ทั้งยังพบกลองมโหระทึก และประติมากรรมต่างๆ ที่มีอิทธิพลของศิลปะอินเดียผสมผสานกับศิลปะพื้นถิ่นเหล่านี้ ล้วนแต่ชี้ให้เห็นชัดว่า บริเวณเมืองโบราณไชยามีพัฒนาการทางด้านการตั้งชุมชนและมีการติดต่อกับภายนอกเรื่อยมา จนกลายเป็นเมืองท่า หรือเมืองสำคัญของบริเวณคาบสมุทรสยามเทศะนี้มาโดยตลอด
กลองมโหระทึก พบจากอำเภอไชยา
จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา