บริเวณแหลมโพธิ์เป็นสันทรายขนาดใหญ่ มีคลองพุมเรียงไหลผ่าน สภาพทั่วไปเป็นป่าโปร่ง บริเวณใกล้ปากน้ำเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน และที่จอดเรือของชาวประมง ทางด้านทะเลฝั่งตะวันออกเป็นดินโคลน มีป่าโกงกางขึ้นอยู่ทั่วไป จากปลายแหลมเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร มีซากโบราณสถานก่ออิฐ ๑ แห่ง แต่ปัจจุบันพังทลายไปมากแล้ว ใกล้ ๆ กันเป็นบ่อน้ำรูป ๖ เหลี่ยม พบเสาธรณีประตูทำด้วยหินปูน พ.ศ. ๒๕๓๔ โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) สำรวจพบซากเรือบริเวณแหลมโพธิ์และได้พบโบราณวัตถุต่างๆ เช่น เศษเครื่องถ้วยต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า คงเป็นที่จอดเรือของชาติต่าง ๆ โดยอาจมีการพำนักชั่วคราวเพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับเมืองโบราณไชยา ทั้งหาเสบียงอาหารและน้ำจืด เพื่อทำการเดินเรือค้าขายกับชาติอื่นไกลออกไป
เมื่อนำมาสรุปภาพทั้งหมดของแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่มีสภาพภูมิศาสตร์ที่เกื้อหนุนในการเป็นที่จอดเรือเพื่อซ่อมแซมเรือและหาเสบียง ตลอดจนขนถ่ายสินค้าแลกเปลี่ยนกับชุมชนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ โดยมีคลองพุมเรียงเป็นเส้นทางสำคัญในการขนถ่ายสินค้า
บริเวณแหลมโพธิ์เป็นสันทรายขนาดใหญ่ มีคลองพุมเรียงไหลผ่าน
สภาพทั่วไปเป็นป่าโปร่ง ใกล้ปากน้ำเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน และที่จอดเรือของชาวประมง
หลักฐานที่พบแสดงถึงกิจกรรมการค้าขายทางทะเลอย่างน้อยตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังเป็นต้นมา สินค้าขาเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องถ้วยชามจีนมีแหล่งผลิต จากเตาฉางชา มณฑลหูหนาน เตาหยังเหม่ติง ในเขตจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี เตายั่ว มณฑลเจ้อเจียง เตามีเสียน มณฑลเหอหนาน และเตากงเสียน มณฑลเหอหนาน
ส่วนสินค้าประเภทแพรไหมไม่เหลือสภาพให้เห็น แต่สันนิษฐานว่าคงเป็นสินค้าสำคัญที่นำเข้ามาจากเมืองจีน สำหรับสินค้าส่งออกน่าจะได้แก่สินค้าพื้นเมืองประเภทเครื่องเทศสมุนไพร ไม้หอม ผลิตภัณฑ์จากป่าและสัตว์ป่า ที่เหลือหลักฐานว่า น่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น คืออุตสาหกรรมการผลิตลูกปัดแก้ว
แม้ว่าวัตถุดิบประเภทเศษแก้ว หรือเศษภาชนะเครื่องแก้วเล็กๆ จะเป็นของนำเข้า แต่ก็มีหลักฐานว่าผลิตขึ้นเองในท้องถิ่น และมีปริมาณมากเพียงพอที่จะจัดได้ว่า น่าจะเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ตลาดค้าลูกปัดน่าจะมีทั้งตลาดภายนอก หมายถึงเป็นสินค้าส่งออกไปยังดินแดนห่างไกล เช่น ดินแดนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เมืองท่าต่างๆ ในคาบสมุทรมลายูทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมไปถึงดินแดนโพ้นทะเลด้วย
ส่วนตลาดภายในหมายถึงชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงลึกเข้าไปในภาคพื้นทวีป หรือเมืองท่าในลุ่มน้ำต่างๆ เช่น ชุมชนเมืองท่าที่แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย แหล่งโบราณคดีควนพุนพิน ในเขตลุ่มน้ำตาปี เป็นต้น
แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์จึงมีลักษณะเป็นเมืองท่า หรือแหล่งรวมสินค้าที่นำเข้าและส่งออก การแพร่กระจายของโบราณวัตถุซึ่งเป็นของจากต่างประเทศ ทำให้ทราบถึงขอบข่ายการค้าที่ครอบคลุมคาบสมุทรมลายู รวมไปถึงเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรอันเป็นที่ตั้งชุมชน เมืองท่าฝั่งทะเลอันดามัน เช่น แหล่งโบราณคดีเหมืองทอง บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นต้น
เส้นทางการค้านี้ครอบคลุมบรรดาหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนตอนใต้ รวมไปถึงเส้นทางการเดินเรือสินค้าจากจีนไปยังตะวันออกกลาง หรือเป็นที่รู้จักกันในนามเส้นทางสายแพรไหมทางทะเลด้วย อายุสมัยกำหนดอายุจากเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕) เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ ) แหล่งเมืองท่าทางพาณิชย์นาวีที่แหลมโพธิ์ คงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ และคงสืบเนื่องมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย