ผู้เข้าชม
0
4 พฤศจิกายน 2567

ดังปรากฏจากหลักฐานโบราณสถาน และโบราณวัตถุทั้งที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนา และโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น สินค้าจากจีน (ดังมีการค้นพบเครื่องถ้วยจีนหลากหลายสมัยในวัดหลง และชุมชนโบราณแห่งอื่นๆ ในอำเภอไชยา) อินเดีย และตะวันออกกลาง ด้วยความเหมาะสมด้านทำเลที่ตั้งและการเข้ามาของวัฒนธรรมจากต่างชาติดังกล่าว จึงส่งผลให้ชุมชนโบราณไชยามีพัฒนาการและเจริญรุ่งเรืองขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและศาสนาที่สำคัญในสมัยศรีวิชัย และมีการใช้พื้นที่สืบมาจนถึงสมัยหลัง

เมื่อนำมาประมวลผนวกเข้ากับโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) สำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งพบซากเรือบริเวณแหลมโพธิ์แสดงให้เห็นว่าคงเป็นที่จอดเรือของชาติต่างๆ อาจมีการพักชั่วคราว เพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับเมืองโบราณไชยา ทั้งหาเสบียงอาหารและน้ำจืด เพื่อทำการเดินเรือค้าขายกับชาติอื่นไกลออกไป และได้ขุดค้นเป็นหลุมทดสอบเพื่อสุ่มตัวอย่าง ๒ หลุมจากการศึกษาหลักฐานที่ขุดพบ แหลมโพธิ์เป็นเมืองท่าทางพาณิชย์นาวีที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ และคงสืบเนื่องถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย

หลักฐานที่พบมีโบราณวัตถุสำคัญที่ได้จากการขุดค้น คือ ๑. ลูกปัด พบจำนวนมากกว่าร้อยละ ๙๐ เป็นลูกปัดแก้ว นอกนั้นเป็นจำพวกหินอะเกต และคาร์เนเลียน รูปทรงเป็นแบบกลองรำมะนาเจาะรู พบมากที่สุด รองลงมาเป็นแบบวงแหวนทรงรูปไข่ ทรงกระบอก ส่วนใหญ่มีสีเหลือง น้ำเงิน ฟ้า และดำ ๒. เหรียญจีน เป็นเหรียญเงินสมัยราชวงศ์ถัง ลักษณะเป็นเหรียญกลม เจาะรูตรงกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยม ๓. เครื่องถ้วย พบเครื่องถ้วยพื้นเมืองเปอร์เซียและจีน การกำหนดอายุสมัยซึ่งกำหนดอายุจากเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕) เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘) แหล่งเมืองท่าทางพาณิชย์นาวีแหลมโพธิ์คงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ และคงสืบเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาด้วย

อีกผลงานวิจัยที่สำคัญคือ การศึกษาเครื่องแก้วจากแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลในภาคใต้ของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่ศึกษาองค์ประกอบทางเคมี แหล่งผลิต บทบาทหน้าที่ การกำหนดอายุของวัตถุที่พบ และสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงการค้าในยุคอินโด-โรมัน ที่มีการติดต่อระหว่างซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก เป็นการนำเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ร่วมกับงานทางด้านโบราณคดี โดยแหล่งโบราณคดีที่พบเครื่องแก้ว มีทั้งสิ้น ๗ แหล่ง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง, นางย่อน, ทุ่งตึก, คลองท่อม, เขาศรีวิชัย, ท่าชนะ (วัดอัมพาวาส) และแหลมโพธิ์ 

กระบวนการวิจัยนี้ได้ใช้การตรวจสอบโดยเครื่องสแกนนิ่งอิเล็กตรอนไมโครสโคปพร้อมด้วยอุปกรณ์ติดตั้งเอ็กซ์เรย์ (SEM-EDX) ธาตุองค์ประกอบสามารถแบ่งได้เป็นธาตุหลักและธาตุรอง มี ๑๕ องค์ประกอบ ได้แก่ ซิลิกอน (Si), อะลูมิเนียม (Al), แคลเซียม (Ca), โซเดียม (Na), โปรแตสเซียม (K), แมกนีเซียม (Mg), ไททาเนียม (Ti), ตะกั่ว (Pb), แมงกานีส (Mn), คอปเปอร์ (Cu), ดีบุก (Sn), โคบอลต์ (Co), โครเมียม (Cr), สังกะสี (Zn) และแบเรียม (Ba) ผลการศึกษาสามารถแบ่งกลุ่มภาชนะแก้วได้ ๕ กลุ่ม คือ กลุ่มแก้วโซดา, กลุ่มแก้วโปแตส, กลุ่มแก้วที่มีแคสเซียมสูง อะลูมิเนียมนาต่ำ และแก้วตะกั่ว ซึ่งสัมพันธ์กับแหล่งที่พบเครื่องแก้วทั้งซีกโลกตะวันออกและตะวันตก 

ดังนั้น การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเคมีของเครื่องแก้วทำให้สันนิษฐานได้ว่าแหล่งโบราณคดีเหล่านี้มีบทบาทเป็นเมืองท่าทางการค้ามาตั้งแต่สมัยยุคอินโด-โรมัน (พุทธศตวรรษที่ ๕ - ๙) จนกระทั่งถึงสมัยประวัติศาสตร์ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖) แสดงให้เห็นว่าเป็นเครือข่ายเส้นทางการค้าระหว่างซีกโลกตะวันตกและตะวันออกซึ่งพบว่าสัมพันธ์กับยุโรป ตะวันออกกลาง อินเดียและจีน นอกจากการตรวจสอบระหว่างชิ้นส่วนภาชนะแก้ว เศษแก้ว และก้อนแก้ว พบว่ามีความเป็นไปได้ที่มีการนำชิ้นส่วนภาชนะแก้วกลับมาหลอมใหม่อีกครั้งเพื่อทำลูกปัดแก้ว
 


ตัวอย่างชิ้นส่วนแก้ว ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา