เมื่ออาจารย์ศรีศักร ได้ไปสำรวจในปี พ.ศ.๒๕๔๖ อีกครั้ง ในแนวความคิดพระพุทธบาทตามเส้นทางเสด็จฯ โบราณ ได้แวะเข้าไปดูถ้ำและจารึก ที่ปัจจุบันเรียกว่า ‘ถ้ำนารายณ์’ เห็นความสำคัญของถ้ำที่สัมพันธ์กับจารึก
‘….ถ้ำนี้เป็นสิ่งอื่นไปไม่ได้ นอกจากการเป็นถ้ำวิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองในบริเวณนี้ที่สัมพันธ์กับกลุ่มชนที่เรียกว่า กุนทรีชนและเมืองอนุราธปุระ ซึ่งก็แน่นอนว่าคงเกี่ยวข้องกับเมืองปรันตะปะหรือขีดขินอย่างชัดเจน ดังนั้น เมื่อดูตำแหน่งที่ตั้งของถ้ำศาสนสถานนี้ กับสภาพแวดล้อมที่เคยเป็นลานผาหน้าถ้ำและภูเขาที่สวยงาม โดยพยายามจินตนาการลบภาพอัปลักษณ์ของโรงปูนและร่องรอยการทำลายเขาออกไปแล้ว ก็แลเห็นได้ชัดว่า ในสมัยเมืองปรันตะปะยังรุ่งเรืองนั้น บริเวณด้านใต้ของเขาพระพุทธบาทคือแหล่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญของบ้านเมืองตั้งอยู่ด้านตรงข้ามกับบริเวณมณฑปพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นด้านเหนือในสมัยอยุธยา….’
ในตำนานเรียก ‘เมืองปรันตะปะ’ หรือ ‘เมืองขีดขิน’
นอกจากนี้ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เคยจัดการเดินทางท่องเที่ยวที่เรียกว่าชุด “ประวัติศาสตร์สองข้างทาง ‘ตามเสด็จกษัตริย์อยุธยาไปสักการะพระพุทธบาท’
‘….การเสด็จพยุหยาตราทางน้ำที่สำคัญก็คือ ‘การเสด็จไปไหว้พระพุทธบาท’ ซึ่งเราจะไปวันนี้ การไหว้พระพุทธบาทเข้าใจว่าไหว้ในเดือน ๓ นี่เป็นเดือน ๗ เดือน ๘ แล้ว แต่เขาไหว้กันในเดือน ๓ เรื่องพระพุทธบาทเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาในตอนกลางลงมาไม่ใช่ตอนต้น ในการที่ไปไหว้พระพุทธบาทนี้ มีเสด็จพยุหยาตราทางน้ำจากตัวพระบรมมหาราชวังท่าวาสุกรีล่องไปตามลำน้ำ เข้าลำน้ำป่าสัก แล้วไปหยุดประทับร้อนที่ตำหนักนครหลวง จากตำหนักนครหลวงก็เสด็จทางน้ำต่อไปยังท่าเจ้าสนุกที่สระบุรี ตามเส้นทางน้ำคือขบวนพยุหยาตรา ซึ่งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ได้แต่งกาพย์เห่เรือขึ้นมา จากท่าเจ้าสนุกจะเดินทาง ทางสถลมารคคือทางบกไปยังพระพุทธบาท....’
เมื่อเปิดพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ในบทที่ ๙๐. เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ก็มีรายละเอียดที่ชัดเจนในการสืบทอดอย่างต่อเนื่องถึงการเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปพระพุทธบาทของพระมหากษัตริย์
‘….ครั้นมาถึง ณ วันอาทิตย์เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปพระพุทธบาท ยกยอดมณฑปและบรรจุพระบรมธาตุ ด้วยเสด็จขึ้นไปครั้งนั้นเป็น กระบวนใหญ่ สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ประชวรอยู่ ก็โปรดฯ ให้ตามเสด็จขึ้นไปด้วย พระเจ้าลูกเธอ ๑๕ พระองค์ เจ้าจอม ๒๐ พระองค์ พระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายในและเจ้าจอมเถ้าแก่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ได้เคยไปนมัสการพระพุทธบาท ก็โปรดฯ ให้ตามเสด็จขึ้นไปด้วยเป็นอันมาก
ละครข้างในสำรับเล็กด้วย วันพุธเดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ เสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังท้ายพิกุล ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ สวดพระพุทธมนต์บนลานพระพุทธบาท เวลาค่ำมีระบำ ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เป็นวันพระฤกษ์ยกยอดพระมณฑป บรรจุพระบรมธาตุในพระมกุฎพันธนเจดีย์แล้วมีละครด้วย ครั้นขึ้น ๑๔ ค่ำ ทรงปิดทองพระพุทธรูปในถ้ำพิมานจักรี เวลาบ่ายสวดพระพุทธมนต์ที่ถ้ำประทุน ครั้นรุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำ บรรจุพระบรมธาตุพระเจดีย์ศิลาที่สั่งให้ทำเข้ามาแต่เมืองจีน เวลาบ่ายมีธรรมเทศนา