อาจารย์ศรีศักร ให้ข้อมูลและสังเคราะห์เชื่อมโยงทางภูมิวัฒนธรรมให้เห็นโครงร่างภาพของอาณาจักรและความเชื่อความศรัทธาผ่านภูมินามเมืองว่า คนทั่วไปรับรู้เรื่องพระพุทธบาทจากหลักฐานทางพงศาวดารและตำนานเพียงแค่รัชกาลพระเจ้าทรงธรรมในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ โดยมีการกล่าวว่า ทางลังกาบอกมาว่ามีรอยพระพุทธบาทที่เขาสุวรรณบรรพตในเมืองไทย ซึ่งมีการประกาศหา และในที่สุดก็มีพรานบุญเป็นผู้พบที่ภูเขาในเขตจังหวัดสระบุรี
‘….พระมหากษัตริย์จึงเสด็จฯ ไปนมัสการ ทรงสร้างพระมณฑปครอบ และสถาปนาเป็นปูชนียสถานสำคัญของราชอาณาจักร เป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลต้องเสด็จไปนมัสการ แต่หลักฐานทางโบราณคดีนั้น พบว่าใกล้ๆ กับเขาพระพุทธบาท มีเมืองโบราณที่มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดีอยู่แล้ว ในตำนานเรียก ‘เมืองปรันตะปะ’ หรือ ‘เมืองขีดขิน’ เป็นเมืองที่มีหน้าที่รักษาพระพุทธบาท
เรื่องเมืองขีดขินนี้คงสร้างขึ้นและรับรู้กันในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เพื่อให้เป็นเมืองลิงคู่กับเมืองนพบุรีหรือลพบุรีที่หนุมานสร้างในนิทานเรื่องรามเกียรติ์ แต่ถ้าเชื่อมโยงจากความคิดทางประวัติศาสตร์ก็เห็นชัดว่าเป็นเมืองที่สัมพันธ์กับเขาพระพุทธบาทตั้งแต่สมัยทวารวดีอย่างชัดเจน และถ้าคิดให้ลึกลงไปก็อาจแลเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคำบอกของชาวลังกาในเรื่องการมีรอยพระพุทธบาท กับเมืองปรันตะปะหรือเมืองขีดขินนี้
ข้าพเจ้าตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้มานานและความกระจ่างก็เกิดขึ้น คือเมื่อประมาณเกือบ ๔๐ ปีที่ผ่านมา ได้สำรวจพบถ้ำและจารึกที่ปากถ้ำแห่งหนึ่ง ที่ตำบลพุกร่างซึ่งเป็นบริเวณด้านใต้ของกลุ่มเขาพระพุทธบาท ข้าพเจ้าไปพบตามคำบอกเล่าของรองศาสตราจารย์เสนอ นิลเดช ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ข้าพเจ้านับถือ ท่านเป็นชาวสระบุรี รับทราบมาจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน
ตอนที่ข้าพเจ้าเดินทางไปสำรวจนั้น สภาพถ้ำและปากถ้ำยังรกร้าง ภายในถ้ำเต็มไปด้วยขี้ค้างคาว หลังจากพบแล้วก็แจ้งให้ทางกรมศิลปากรทราบ ต่อมาบิดาของข้าพเจ้าคือ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ในขณะนั้นเป็นหัวหน้ากองโบราณคดี ได้ไปสำรวจและให้เจ้าหน้าที่ทำการคัดลอกจารึกไว้ ภายหลังมีผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณจากลังกาหรืออินเดียไม่ทราบแน่ ได้เข้ามาพบปะด้วย
อาจารย์มานิตจึงนำหลักฐานจารึกไปหารือ เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครอ่านได้ชัด ผู้เชี่ยวชาญท่านนั้นก็อ่านอย่างคร่าวๆ แต่พอจับใจความว่ามีคำว่า ‘อนุราธปุระ’ อยู่
เพียงคำว่า ‘อนุราธปุระ’ ข้าพเจ้าก็ดีใจ เพราะเป็นชื่อเมืองสำคัญทางพระพุทธศาสนาของศรีลังกา ที่ร่วมสมัยทวารวดีกับเมืองสำคัญในเมืองไทยที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาทเหมือนกัน จึงน่าจะมีอะไรที่เชื่อมโยงกับเมืองปรันตะปะ และคำบอกเล่าของคนลังกาที่ปรากฏในพงศาวดารครั้งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะตำแหน่งของเมืองปรันตะปะหรือเมืองขีดขินนั้น อยู่ที่ตำบลบางโขมดไม่ห่างไกลจากถ้ำที่พบจารึกเท่าใด
ถ้ำนี้ ข้าพเจ้าและอาจารย์มานิตได้เคยเข้าไปสำรวจ พบว่าเป็นถ้ำกว้าง ลึก แต่เต็มไปด้วยขี้ค้างคาว สอบถามจากคนในท้องถิ่นได้ว่าเคยมีคนร้ายเข้าไปลักโบราณวัตถุ โดยเฉพาะเคยมีพระพุทธรูปหินแบบทวารวดีอยู่ แต่ถูกลักไปเป็นสมบัติของเอกชนที่เป็นเชื้อพระวงศ์แล้ว หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ไม่ได้ติดตามอะไร แต่มีผู้เชี่ยวชาญอ่านจารึกได้อ่านมาแล้วได้ความชัดเจนว่า กุนทรชน ผู้ตั้งอาณาจักรอนุราธปุระ ได้มอบให้พ่อลุงสินายธะ เป็นตัวแทนร่วมกับชาวเมือง (อนุราธปุระ) ร่วมกันจัดพิธีขับร้องฟ้อนรำ (เพื่อการเฉลิมฉลองปูชนียวัตถุ) ที่ประดิษฐานไว้แล้วในสถานที่นี้....’
จารึก พบที่ถ้ำนารายณ์ ปรากฏคำว่า 'อนุราธปุระ'
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม