นายพรานผู้หนึ่งชื่อบุญ เที่ยวยิงเนื้อในแคว้น ปะรัตนครราชธานี นายพรานนี้ถือสัตว์มั่นคง จะยิงตัวดำ ถ้าตัวแดงขวางก็ไม่ยิง ถ้าจะยิงตัวเมีย ตัวผู้มาขวาง ก็ไม่ยิง วันหนึ่งนายพรานยิงเนื้อตาย พอพระฤๅษีลงไป สรงน้ำที่ท่าวัด นายพรานจึงสั่งพระฤๅษีว่าช่วยบอกพระคงคาให้ไหลขึ้นมาจะล้างเนื้อ พระฤๅษีจึงว่า ตนเองสวดมนต์ภาวนาอยู่ทุกวันค่ำเช้ามิได้ขาด ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ก็ไม่เคยเรียกพระคงคาไหลขึ้นมาบนเขาได้ ต้องลงไปอาบน้ำถึงท่าวัด แต่นายพรานฆ่าสัตว์อยู่เป็นนิจ จะสั่งให้พระคงคาไหลขึ้นมาหาถึงบนเขาได้อย่างไร นายพรานจึงให้ไปบอก
เมื่อพระฤๅษีลงไปที่ท่าวัด และบอกแก่พระคงคาตามสั่ง พระคงคาก็ไหลขึ้นไปที่นายพรานยิงเนื้อไว้นั้น นายพรานจึงยกเอาก้อนศิลากั้นน้ำไว้ให้เป็นขอบคันบ่ออยู่ นายพรานจึงล้างเนื้อในบ่อนั้น จนกลายเป็นบ่อพรานล้างเนื้อในปัจจุบัน
ต่อมาวันหนึ่ง นายพรานยิงเนื้อจนบาดเจ็บ มันหลบหนี ขึ้นไปบนไหล่เขา ปรากฏว่าเนื้อนั้นกลับหายจากบาดเจ็บเป็นปกติ นายพรานเห็นประหลาดจึงเข้าไปดูในสถานที่นั้น เห็นศิลานั้นเป็นลิ้นถอด มีน้ำขังอยู่ไม่มาก แต่พอเนื้อได้ดื่มกิน นายพรานจึงตักน้ำ มาดื่มและลูบกาย เกลื้อนกลากก็หายไป นายพรานจึงชักลิ้นศิลาถอดที่ปิดฝ่าพระพุทธบาทนั้นออก ตักน้ำให้แห้ง จึงได้เห็นพระลายลักษณ์เป็นกงจักรปรากฏอยู่ นายพรานคิดว่าเป็นรอยของคนโบราณ จึงมิได้บอกเล่าผู้ใด
ภาพตัวอย่างการเสด็จพยุหยาตราทางน้ำ ทำให้เกิดขบวนเรือพระที่นั่งต่างๆ
และเรือรูปสัตว์นานาชนิดที่งดงาม
ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพพิธี
เมื่อข้าหลวงกรมการเมืองพบนายพรานจึงไต่ถาม นายพรานจึงเล่าให้ฟัง แล้วนำขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาท และพากันไปกราบทูลพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงทราบว่า รอยพระพุทธบาท สถิตอยู่เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพต จึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อเป็นฝาผนังหลังคามุงกระเบื้องอย่างวัดเจ้าพระยาเชิง (วัดพนัญเชิง อยุธยา) ให้เป็นร่มพระบาทไว้ ตั้งให้นายพรานเป็นขุนสัจจพันธ์คีรีนพคูหาพนมโขลน นับแต่นั้นมา...’
ปัจจุบัน ภูมิทัศน์และภูมิวัฒนธรรมของเขาพระพุทธบาทได้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ‘แสนเสียดายเขาพระพุทธบาท’ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้เขียนบทความโบราณคดีเชิงวิพากษ์ถึงเขาพระพุทธบาทที่สระบุรี ไว้อย่างลุ่มลึกว่า
‘….ในประวัติศาสตร์อยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ‘เขาพระพุทธบาท’ คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่แวดล้อมไปด้วยความงามของป่าเขา ห้วยธาร พันธุ์ไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด เป็นสถานที่แสวงบุญที่สำคัญของพระราชอาณาจักร เกิดศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางอารยธรรม นั่นคือการเสด็จพระราชดำเนินทั้งพยุหยาตราทางน้ำและทางบกจากพระนครศรีอยุธยามายังพระพุทธบาท
การเสด็จฯ พยุหยาตราทางน้ำทำให้เกิดขบวนเรือพระที่นั่งต่างๆ และเรือรูปสัตว์นานาชนิดที่งดงาม และเป็นมรดกตกทอดลงมาจนทุกวันนี้ ขบวนเรือจะเห่กล่อมกันมาตามลำน้ำป่าสักจากอยุธยา มาขึ้นบกที่อำเภอท่าเรือ จากนั้นก็เป็นขบวนช้าง ม้า รถ และคนเดินไปตามถนนที่ให้พวกฝรั่งมาส่องกล้องตัดให้ผ่านป่าดงไปยังพระพุทธบาท เพื่อที่พระมหากษัตริย์และเจ้านายจะได้นมัสการพระพุทธบาท
การโดยเสด็จฯ ทางน้ำและทางบกนี้ เป็นการชมน้ำ ชมปลา ชมนก ชมไม้ ชมป่าเขาไปในตัวเอง เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ เขาพระพุทธบาท ก็มีการสร้างพระตำหนักหลายแห่งเพื่อการประทับพักอิริยาบถของพระมหากษัตริย์ เจ้านาย และข้าราชบริพาร นับเป็นเวลาหฤหรรษ์ที่ระคนไปกับการทำบุญแสวงบุญ จนเป็นเหตุให้เกิดพระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ และบทกวีของกษัตริย์ เจ้านาย และขุนนางมากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร อันเป็นที่รู้จักกันทั่วไป แม้แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็เกิดนิราศขึ้นหลายเรื่อง เช่น นิราศพระบาทของสุนทรภู่ เป็นต้น
เขาพระพุทธบาทคือภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนประชาชนทั่วไปพากันเดินทางมาทั้งทางรถ ทางเท้า เพื่อแสวงบุญ ในฤดูกาลจะแออัดไปด้วยผู้คนทุกชั้นทุกวัยและทุกหนแห่ง เพราะมีความเชื่อกันว่า ถ้าผู้ใดไปไหว้พระพุทธบาทถึงเจ็ดครั้งแล้วตายไปจะไม่ตกนรกขึ้นสวรรค์ได้เลย....