งานนักขัตฤกษ์ประจำปีของเทศกาลพระพุทธบาท มี ๒ ช่วง คือ ช่วงขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ครั้งหนึ่ง กับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ อีกครั้งหนึ่ง ตามคติของคนโบราณเชื่อกันว่า รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก หากได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทนี้ครบ ๗ ครั้ง จะได้ไปจุติในสรวงสวรรค์ แม้แต่ในชาติภพนี้ อานิสงส์ผลบุญก็จะส่งให้ชีวิตมีความสำเร็จสมหวังทุกประการ
วัดพระพุทธบาท ถือเป็นพระอารามสำคัญของแผ่นดิน ที่พระมหากษัตริย์ทุกรัชสมัย โปรดให้บูรณ-ปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด ครั้งหลังสุดสำนักงานทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ได้ร่วมกับวัดพระพุทธบาท จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาท พระวิหารพระพุทธบาทสี่รอย และศาลาเปลื้องเครื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ เสร็จทั้งหมดในปี พ.ศ. ๒๕๖๑
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๗ สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ผู้สร้างคือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นไว้ มูลเหตุที่จะทรงโปรดให้สร้างวัดนี้ เพราะสืบเนื่องมาจากพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นรอยพระพุทธบาทประดิษฐาน ณ ที่ตรงนั้น ทรงพระเจริญพระราชศรัทธาเลื่อมใสยิ่งนัก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างก่อเป็นคฤห์ (เรือนน้อย) สวมรอยพระพุทธบาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อน
ภายหลังจากได้เสด็จพระราชดำเนินกลับถึงราชธานี จึงเริ่มงานสถาปนายกสถานที่พระพุทธบาทนั้นขึ้นเป็นพระมหาเจดียสถานและโปรดให้สร้างพระมหามณฑปครอบรอยพระพุทธบาท พร้อมกับโปรดให้เจ้าพนักงานสร้างพระอาราม สำหรับพระภิกษุสามเณรอยู่อาศัยเป็นประจำ เพื่อดูแลรักษาพระมหาเจดียสถานพร้อมกับบำเพ็ญสมณธรรมสืบไป
ปัจจุบันนี้ บริเวณพระอารามซึ่งกว้างขวางใหญ่โต ได้แบ่งออกเป็นสองเขตเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา คือเขตพุทธาวาสเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาท พระอุโบสถและปูชนียสถานอื่นๆ ที่อยู่บนไหล่เขาตลอดลงมาถึงเชิงเขา เขตสังฆาวาสเป็นที่อยู่จำพรรษาของพระภิกษุสามเณร มวลหมู่กุฎีพร้อมทั้งศาลาการเปรียญตั้งอยู่ที่บริเวณพื้นดินติดกับเขตพุทธาวาส ทั้งสองเขตมีกำแพงล้อมรอบเป็นสัดส่วน มีถนนคั่นกลางระหว่างเขต เพราะเหตุว่าวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท จึงได้รับพระราชทานนามมาแต่เดิมว่า วัดพระพุทธบาท แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปนิยมเรียกสั้นๆ ว่า วัดพระบาท
สำหรับตำนานพระพุทธบาทนี้ มีปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวไว้ในปุณโณวาทสูตร พร้อมทั้งมีอรรถกถาขยายความของพระสูตรนี้ออกไปอีกมากมาย คำให้การของขุนโขลน ซึ่งพิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗ บันทึกเกี่ยวกับ รอยพระพุทธบาทไว้ว่า
‘….รัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม มีพระสงฆ์ไทยพวกหนึ่ง เดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ ลังกาทวีป พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ จึงตรัสแก่คณะสงฆ์ไทยว่า รอยพระพุทธบาทที่อยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา บนยอดเขาสุวรรณบรรพต ทิศเหนือกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับทรงพระราชอักษรเป็นราชสาส์นถวายมายังพระเจ้าทรงธรรม เมื่อพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ได้ทราบความในพระราชสาส์นของพระลังกาแล้ว จึงมีพระราชโองการตรัสแก่เสนาบดีให้ออกป่าวร้อง แก่ประชาราษฎร์ให้เที่ยวค้นหารอยพระพุทธบาท ให้จงได้
เขตพุทธาวาสเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาท พระอุโบสถและปูชนียสถานอื่นๆ
ที่อยู่บนไหล่เขาตลอดลงมาถึงเชิงเขา