ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา จะเห็นได้ว่าในสมัยพระเจ้าปราสาททองได้พัฒนาเส้นทางสถลมารค โดยจัดสร้างที่พักริมทางและแหล่งน้ำ ปัจจุบันโบราณสถานตามเส้นทางนมัสการรอยพระพุทธบาทยังคงเหลือร่องรอยปรากฏ
สำหรับภูมิสถาน ภูมิสังคมวัฒนธรรม วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี เป็นวัดที่รับการสถาปนามาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี ประมาณปี พ.ศ. ๒๑๖๗ ประวัติความเป็นมาของวัดถูกบันทึก ไว้เป็นตำนาน ในพระราชพงศาวดาร และเอกสารสำคัญอื่นๆ เป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาแต่ช้านาน ซึ่งมีปรากฏหลักฐานประวัติศาสตร์พระราชพงศาวดารกรุงเก่า บันทึกว่า
พรานบุญ ได้พบรอย พระพุทธบาท แล้วจึงนำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ทรงทราบ พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงมีรับสั่งให้ทำมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทแล้ว เตรียมการพระราชพิธี เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาททางน้ำ ด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และต่อด้วยทางบกสถลมารคจัดเป็นพระราชพิธียิ่งใหญ่ในครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนในแผ่นดินของรัชกาลองค์ต่อๆ มา ก็พบหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์มณฑปและสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อแสดงถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของแต่ละพระองค์ จึงปรากฏศาสนสถานมากมายภายในบริเวณของวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร แล้วยังเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะต้องเสด็จ มานมัสการรอยพระพุทธบาท
วัดพระพุทธบาทเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มณฑลอยุธยา อธิบายได้ดังนี้ พระพุทธบาทเมื่อก่อนนั้นเป็นเมืองจัตวา ขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองพระพุทธบาทก็ถูกยุบลงเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อจัดตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาล ในรัชกาลที่ ๕ เพราะตัดที่ตอนเป็นเมืองเก่าตั้งเป็นอำเภอหนองโดน ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศยกฐานกิ่งอำเภอพระพุทธบาทขึ้นเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๙
เขตและอุปจารวัดหรือเขตบำเพ็ญภาวนา วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร มีลักษณะเป็นกำแพงและภูเขาเป็นเขตกั้น จะเห็นได้ ทิศใต้และทิศตะวันออกติดกับกำแพงและภูเขาโพธิ์ลังกา ซึ่งมีเนื้อที่ส่วนความยาวตั้งแต่ด้านจากทิศเหนือติดกับกำแพงเก่า ลักษณะเป็นเขาลูกเตี้ย ๆ และทิศตะวันตกติดกับพระราชวังท้ายพิกุล ทิศเหนือถึงทิศใต้วัดได้ทั้งสิ้น ๑๔ เส้น ๒ วา และเนื้อที่ส่วนความกว้างตั้งแต่ด้านทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกวัดได้ ๘ เส้น ๑๙ วา โดยรอบเขตของวัดนั้นมีหมู่บ้านอยู่เป็นจำนวนมาก
พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร แม้จะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามการที่มีรอยพระพุทธบาทและในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ได้ถวายที่ดิน ออกไปด้านละ ๑ โยชน์หรือด้านละ ๑๖ กิโลเมตร ก็ยังมีผู้ที่แสดงตนว่าเป็นเจ้าของที่ดินผืนนี้อยู่หลายครั้งจนเมื่อถึงสมัย รัชกาลที่ ๙ จึงได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาท ขึ้นเพื่อป้องกันการรุกล้ำเขตพระพุทธบาท