ผู้เข้าชม
0
30 ตุลาคม 2567

ลักษณะร่วมด้านเนื้อหาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโคลงลิลิตนั้นตำนานพระพุทธบาทที่สร้างสรรค์ขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับ แรงบันดาลใจและอิทธิพลด้านเนื้อหามาจากบุณโณวาทคำฉันท์ซึ่งเป็นวรรณคดีเกี่ยวกับพระพุทธบาทสระบุรีโดยตรงเรื่องแรกและเรื่องเดียวในสมัยอยุธยา อย่างไรก็ตามรายละเอียดของเนื้อหาในโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาทที่แตกต่างไปจากบุณโณวาทคำฉันท์ก็แสดงให้เห็นการสร้างสรรค์ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับโลกทัศน์ในบริบทสังคมสมัยรัชกาลที่ ๖ ด้วยเหตุนี้เนื้อหาในบุณโณวาทคำฉันท์และโคลงลิลิตดิ้นตำนานพระพุทธบาทจึงสะท้อนภาพสังคมวัฒนธรรมและคติความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธบาทสระบุรีแตกต่างกันไปตามยุคสมัย 

กระนั้นวรรณคดีต่างสมัยทั้ง ๒ เรื่องก็ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คติความเชื่อเรื่องพระพุทธบาทสระบุรีและประเพณี ‘ไปพระบาท’ มีผลต่อการสร้างสรรค์เนื้อหาในวรรณคดีดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลง 

การเสด็จพระราชดำเนิน ‘ไปพระบาท’ ของพระมหากษัตริย์ ในบุณโณวาทคำฉันท์กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนิน โดยเน้นการพรรณนากระบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค พระราชกุศลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและการเสด็จประพาสป่าเพื่อชมธรรมชาติโดยรอบ ผู้แต่งเน้นการพรรณนาความยิ่งใหญ่และงดงามของแบบธรรมเนียมราชสำนักสมัยอยุธยา เพื่อสื่อถึงพระราชศรัทธา พระบารมี พระราชอำนาจ และการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาอุปถัมภ์พระพุทธบาทสำคัญของอาณาจักรอันถือเป็นการสืบทอดโบราณราชประเพณี และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะองค์อัครศาสนูปถัมภกให้เป็นที่ประจักษ์

ส่วนโคลงลิลิตขั้นตำนานพระพุทธบาท แม้ว่าจะมีมูลเหตุแห่งการสร้างสรรค์มาจากการเสด็จพระราชดำเนินยกยอดมณฑปพระพุทธบาทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กระนั้นผู้แต่งก็มิได้มุ่งบันทึกเฉพาะภาพเหตุการณ์ดังกล่าวเท่านั้น แต่นำเสนอเนื้อหาในลักษณะของงานค้นคว้าที่ใช้ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารมาเป็นวัตถุดิบแสดงให้เห็นการเสด็จพระราชดำเนิน ‘ไปพระบาท’ และการอุปถัมภ์พระพุทธบาทสระบุรีของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเชื่อมโยงว่าการเสด็จพระราชดำเนินมา อุปถัมภ์พระพุทธบาทสระบุรีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือการสืบทอดโบราณราชประเพณีที่เหล่าบรรพกษัตริย์ทรงถือปฏิบัติสืบต่อกันมาและตอกย้ำพันธกิจที่สถาบัน พระมหากษัตริย์จึงมีต่อพระพุทธบาทสระบุรี 

กล่าวได้ว่าการเสด็จพระราชดำเนิน ‘ไปพระบาท’ ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะองค์อัครศาสนูปถัมภกให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อยืนยันสิทธิธรรมในการปกครองและส่งเสริมอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่พระองค์ทรงสนับสนุน

เส้นทางถนนพระเจ้าทรงธรรม หรือถนนฝรั่งส่องกล้องซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นเส้นทางที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงพระราชศรัทธาของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ ในสมัยอยุธยาตอนปลายตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นต้นมา ถือว่าเป็นประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลต้องเสด็จไปนมัสการถวายสักการะเป็นประจำ มีผลทำให้เกิดการจัดรูปขบวนเสด็จพระราชดำเนินทั้งทางชลมารคและสถลมารค
 


เส้นทางถนนพระเจ้าทรงธรรม หรือถนนฝรั่งส่องกล้อง ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จ
พระเจ้าทรงธรรม ที่มา: เทศบาลตำบลพุกร่าง