“ถึงเจ้าแผ่นดินเมืองไทยที่มีธรรมเนียมสืบมา เหตุที่ให้เสด็จมาก็มีสามอย่าง เสด็จไปสงคราม อย่างหนึ่ง เสด็จไปวังช้างอย่างหนึ่ง เสด็จไปนมัสการพระคือพุทธบาทแลที่อื่นๆ อย่างหนึ่ง...”
ในโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อกวีกล่าวถึงการเสด็จออกนอกพระนคร กล่าวได้ว่าการเสด็จพระราชดำเนิน ‘ไปพระบาท’ คือการเดินทางครั้งสำคัญที่เป็นทั้ง ‘ราชประเพณี’ และอาจเป็น ‘พระราชนิยม’ ของพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่มีหลักฐานว่า เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาทมากกว่า ๑ ครั้ง เช่น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นต้น
การเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาทของพระมหากษัตริย์ เปิดโอกาสให้กวีราชสำนักทั้งเจ้านายและข้าราชการที่ได้ตามเสด็จสร้างสรรค์วรรณคดีขึ้น วรรณคดีเหล่านั้นบางเรื่อง ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติที่ผู้แต่งพบเห็นเมื่อครั้งเดินทาง ‘ไปพระบาท’ ได้แก่ กาพย์ห่อโคลง นิราศธารโศกและกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรหรือเจ้าฟ้ากุ้งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นเมื่อเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร โดยเสด็จตามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปนมัสการรอยพระพุทธบาท
วรรณคดีเกี่ยวกับพระพุทธบาทสระบุรี ได้แก่ บุณโณวาทคำฉันท์ นิราศพระบาทของสุนทรภู่ นิราศพระบาทสำนวนนายจัด โคลงนิราศวัดรวก และ โคลงลิลิตนั้น ตำนานพระพุทธบาท ซึ่งเป็นวรรณคดีที่มีต้นฉบับครบถ้วนและมีเนื้อหากล่าวถึงคติความเชื่อเรื่อง พระพุทธบาทสระบุรีและประเพณี ‘ไปพระบาท’ โดยตรง
ส่วนโคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย โคลงนิราศ พระพุทธบาท กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง แม้ว่าจะสร้างสรรค์ ขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเดินทาง ‘ไปพระบาท’
สำหรับวรรณคดีบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ บุณโณวาทคำฉันท์และโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท วรรณคดีทั้ง ๒ เรื่อง สร้างสรรค์ขึ้นโดยมีมูลเหตุมาจากการเสด็จพระราชดำเนิน ‘ไปพระบาท’ ของพระมหากษัตริย์
ตำนานรอยพระพุทธบาทสระบุรีในบุณโณวาทคำฉันทร์และโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท โดย วรรณวิวัฒน์ รัตนลัมภ์ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และเรื่องโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาทที่มีเนื้อหาเป็นการรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทสระบุรีไว้ทั้งหมด แต่งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในการเสด็จพระราชดำเนินยกยอดมณฑปพระพุทธบาทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า รัชกาลที่ ๖
การศึกษาพบว่าตำนานรอยพระพุทธบาทสระบุรีในบุณโณวาทคำฉันท์และโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท ล้วนมีที่มาจากพระปุณโณวาทสูตรคัมภีร์เทศนา ที่แต่งขึ้นเพื่อใช้อธิบายความเป็นมาของรอยพระพุทธบาทสระบุรีโดยเฉพาะ มิได้มาจากปุณโณวาทสูตร ในพระไตรปิฎกดังที่ผู้แต่งอ้างไว้ในบุณโณวาทคำฉันท์ และมิได้มาจากอรรถกถาปุณโณวาทสูตร ดังที่ผู้แต่งอ้างไว้ในโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
แม้ว่าตำนานรอยพระพุทธบาทสระบุรีในวรรณคดีทั้ง ๒ เรื่องจะอธิบายความเป็นมาของมหาเจดียสถานดังกล่าวเช่นเดียวกัน กระนั้นด้วยจุดประสงค์การแต่งและยุคสมัยที่ต่างกัน ทำให้ความสำคัญของตำนานรอยพระพุทธบาทสระบุรีและภาพสะท้อนคติความเชื่อที่มีต่อรอยพระพุทธบาทสระบุรีในวรรณคดีดังกล่าวแตกต่างกันไปด้วย
กล่าวคือ บุณโณวาทคำฉันท์ของพระมหานาควัดท่าทราย แต่งขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ส่วนโคลงลิลิตดั้นตำนาน พระพุทธบาทของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ แต่งขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เสด็จพระราชดำเนินยกยอดมณฑปพระพุทธบาท
เมื่อพิจารณาเนื้อเรื่องและลำดับการนำเสนอเนื้อหาในปุณโณวาทคำฉันท์และโคลงลิลิตนั้นตำนาน พระพุทธบาท พบว่าวรรณคดีทั้ง ๒ เรื่องมีลักษณะร่วมด้านเนื้อหาที่แบ่งได้เป็น ๓ ส่วนคือ ๑) กล่าวถึง ตำนานพระพุทธบาทสระบุรี ๒) กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนิน ‘ไปพระบาท’ ของพระมหากษัตริย์ ๓) กล่าวถึงมหรสพสมโภชและการรื่นเริงเนื่องในประเพณี ‘ไปพระบาท’