ในกฎหมายลักษณะลักพาครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ก็เรียกชื่อทุ่งยั้งเป็นเมืองคู่กับเมืองบางยม ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นเมืองร้างอยู่ริมน้ำยม
ในปี พ.ศ. ๒๒๓๘ เมื่อพระเจ้าบรมโกศเสด็จไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์นั้น ปรากฏเรียกชื่อเมือง ทุ่งยั้งว่า เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง หลังจากเมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัยแล้ว ต่อมาแม่น้ำน่านเปลี่ยนทางเดิน ทำให้เมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองดอน ชาวเมืองจึงอพยพมาตั้งภูมิลำเนาที่ตำบลท่าอิฐและตำบลบางโพธิ์ เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตีเมืองสวางคบุรี (ก๊กเจ้าพระฝาง) ได้แล้ว พระองค์ได้เสด็จไปทำพิธีสมโภชพระแท่นศิลาอาสน์ที่เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง ในสมัยกรุงธนบุรีเมืองทุ่งยั้งมีชื่อเต็มว่า เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง และมีความสำคัญพอสมควรอีกด้วย
ตามหลักฐานและข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเหล่านี้จะเห็นได้ว่าเมืองโบราณที่เชื่อกันว่าเป็นเมืองทุ่งยั้งแห่งนี้เป็นเมืองเก่าแก่ในแว่นแคว้นสุโขทัยแน่นอน แต่ในสมัยสุโขทัยจะเรียกชื่อว่าอย่างไรไม่ทราบชัดเจน จนกระทั่งถึงสมัยปลายสุโขทัยหรือต้นกรุงศรีอยุธยาจึงปรากฏชื่อเรียกว่า ทุ่งยั้ง
วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตั้งอยู่ในเขตเมืองทุ่งยั้ง
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
เนื่องจากเมืองโบราณแห่งนี้มีขนาดกว้างใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่เหมาะสมมาก คืออยู่ในที่ราบลุ่มฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านและยังอยู่ในเส้นทางติดต่อกับเมืองอื่นๆ ขึ้นไปตั้งทางเหนือและต่อไปถึงหลวงพระบางเวียงจันทน์ในประเทศลาวได้
ที่มาของชื่อเรียกทุ่งยั้งนั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีของกรมศิลปากร สันนิษฐานไว้ในบทความเรื่อง ‘อุตรดิตถ์เมืองแห่งท่าน้ำ’ ว่า หากพิจารณาโดยชื่อของเมืองทุ่งยั้งว่าหมายถึงที่ยับยั้งในระหว่างการเดินทางก็เป็นการสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศที่เปลี่ยนจากที่ราบมาเป็นที่สูงของภูเขาทำให้แบบแผนการเดินทางต้องเปลี่ยนแปลงไประหว่างการเดินทางโดยทางน้ำตามแม่น้ำน่านจากทิศใต้เปลี่ยนมาเป็นการเดินทางโดยทางบก
‘….การเกิดขึ้นของเมืองทุ่งยั้งในฐานะเป็นสถานที่หยุดเพื่อสับเปลี่ยนการเดินทางจึงเป็นคำอธิบายที่นำมาใช้ได้...ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมืองทุ่งยั้งน่าจะหมดความสำคัญลงเพราะศูนย์กลางความเจริญได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองลับแลแทนดังที่ยังคงปรากฏชื่อตำบลทุ่งยั้งอยู่ในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มาจนทุกวันนี้....’
หากพิจารณาถึงการซ้อนทับของ ‘เมืองทุ่งยั้ง’ กับ ‘เวียงเจ้าเงาะ’ ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งซ้อนกันอยู่ในบริเวณเดียวกันคือ เวียงเจ้าเงาะซ้อนอยู่ในเมืองทุ่งยั้งมีเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่ ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาซึ่งลาดลงมาจากบริเวณวัดพระแท่นศิลาอาสน์ มีคูน้ำและกำแพงเมือง ๒ – ๓ ชั้น ว่าไปแล้วเมืองทุ่งยั้งมีขนาดกว้างใหญ่มาก คลุมพื้นที่บริเวณเนินเขานางทองจนถึงบริเวณที่ราบลุ่มบ้านไผ่ล้อม จากหลักฐานกำแพงเมือง ๓ ชั้น และแทบจะเป็นแนวคันดินที่ทำมาจากศิลาแลงแห่งเดียวในประเทศไทย
โบราณวัตถุสถานที่ปรากฏอยู่ สันนิษฐานได้ว่าเมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองเก่าสมัยสุโขทัย ว่ากันว่า เมืองทุ่งยั้ง มีตำนานที่บอกเล่าความเป็นมาของสถานที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น ตำนานพระเจ้าเลียบโลกของทางล้านนา ส่วนเวียงเจ้าเงาะ เมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองทุ่งยั้งนั้นก็มีตำนานของพื้นที่ที่เกี่ยวกับนิทานเรื่องสังข์ทอง โดยตำนานได้ผูกเอาบ่อแลง และคูน้ำคันดินของเวียงเจ้าเงาะว่าเป็นเมืองท้าวสามล และกระท่อมปลายนาของเจ้าเงาะ เป็นต้น
ด้วยความที่เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนเนินสูงที่เทลาดมาจากเขาและที่สูงในเขตวัดพระแท่นศิลาอาสน์ทางทิศตะวันตก ส่วนทางตอนเหนือและตะวันออกมีเทือกเขาสูงยาวเป็นแนวต่อเนื่องจากจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่สม่ำเสมอ อันน่าจะเป็นผลจากการขยายเมืองมาหลายครั้ง