โบราณสถานที่พบในอาณาบริเวณเมืองโบราณที่อำเภอลับแล ที่มีรูปแบบศิลปะสมัยสุโขทัยได้แก่พระบรมธาตุทุ่งยั้งตั้งอยู่กลางเมือง ซากสถูปทรงดอกบัวตูมที่วัดทองเหลือตั้งอยู่นอกเมืองไปทางทิศตะวันออก รวมทั้งวัดพระแท่นศิลาอาสน์และวัดพระยืน ซึ่งแม้จะมีลักษณะของการบูรณะในสมัยอยุธยาแล้วแต่ก็ยังพบร่องรอยว่าเคยเป็นอาคารก่อสร้างในสมัยสุโขทัยมาก่อนเช่นกัน
เนื่องจากเมืองโบราณแห่งนี้มีขนาดใหญ่มาก ฉะนั้นเมื่อมีผู้พบซากกำแพงเมืองบางตอนจึงคิดว่าเป็นเมืองขนาดย่อมซ้อนอยู่ด้วยกันอีกเมืองหนึ่งชาวบ้านเรียกกันมาว่า เวียงเจ้าเงาะ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทอดพระเนตรแต่เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรม- โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพรรณนาไว้ในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงว่า
‘....ขี่ม้าไปตามถนนพระแท่นเข้าเขตทุ่งยั้ง ซึ่งบัดนี้รวมอยู่ในอำเภอลับแลแล้วลัดเข้าไปในป่าไปดูที่ซึ่งเรียกกันว่า เวียงเจ้าเงาะ ที่นี้เป็นที่ชอบกล...ตามความสันนิษฐานของข้าพเจ้าว่า เวียงเจ้าเงาะนี้เป็นเทือกป้อมหรือค่ายซึ่งสร้างขึ้นเป็นที่รวบรวมครัวเข้าไปไว้เป็นที่มั่นในคราวมีศึก....’
เมืองโบราณทุ่งยั้งในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยติดต่อกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งพิจารณาได้จากสำเนียงการพูดของคนทุ่งยั้งเทียบกับกลุ่มคนในชุมชนชาวสุโขทัยเดิม ที่อาศัยอยู่ในแถวหมู่ที่ ๑๐ และหลายๆ หมู่บ้านในเขตตำบลทุ่งยั้ง ที่มีประวัติชุมชนว่าเป็น กลุ่มคนที่อพยพไปตั้งบ้านเรือนที่อื่น
การปรากฏชื่อเมืองทุ่งยั้ง เป็นชื่อเมืองโบราณปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์อีกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ พงศาวดารเหนือ ซึ่งชำระรวบรวมเมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีชื่อเมืองนี้อยู่ในเรื่องสร้างเมืองสวรรคโลกยกบาธรรมราชขึ้นเป็นพระยาธรรมราชาครองเมืองสวรรคโลก โดยหลังจากที่พระยาธรรมราชาสร้างเมืองสวรรคโลกแล้วได้ส่งพระราชโอรสไปครองเมืองต่างๆ ซึ่งมีเมืองทุ่งยั้งรวมอยู่ว่า
‘….บาธรรมราช ผู้ปกครองเมืองสวรรคโลก ได้สร้างเมืองทุ่งยั้งขึ้น เพื่อให้พระโอรสไปปกครอง และให้ชื่อว่า กัมโพชนคร….’
‘....จึงชะพ่อชีพราหมณ์ผู้ใหญ่ มารับเอาธรรมกุมารไปราชาภิเษกด้วยนางพราหมณีก็ได้ชื่อว่ากัมโพชนครคือเมืองทุ่งยั้ง และให้สาส์นนั้นไปถึงบ้านบุรพคาม ตกแต่งกำแพงและคูให้ทำพระราชวังให้บริบูรณ์...’
ส่วนหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับเมืองทุ่งยั้งที่ปรากฏอยู่ในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๓๘ พบที่วัดสระศรี จังหวัดสุโขทัย สันนิษฐานว่าจารึกเมื่อราว พ.ศ. ๑๙๔๐ มีความว่า
‘….พระราชโองการบรมเอาฬารหนักหนา จึงท่านให้ตราพระปรชญบดิให้ลูกขุนมูลตวานบริวารไพร่ฟ้าทั้งหลายถ้วนเมืองเล็กเมื – (อง)ใหญ่) --- ราชสีมาทั้งหลายนี้ไซร้ กลางเมืองสุโขทัยอันเป็นประธานกึ่งในเมื – (อง) – ทํเนปรเชลียง กำแพงเพชร ทุ่งย้าง ปากยมสองแคว....’
วัดพระยืน พบร่องรอยว่าเคยเป็นอาคารก่อสร้าง