ผู้เข้าชม
0
23 ตุลาคม 2567

‘….สรุปโดยย่อจากการศึกษาการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองในดินแดนตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ว่าเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของดินแดนสยามประเทศ ที่พัฒนาขึ้นแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ อันเป็นสมัยเวลาของการเปลี่ยนแปลงและเติบโตของบ้านเมือง ที่เป็นผลมาจากการขยายตัวทางการค้าของจีนตั้งแต่ราชวงศ์ซุ้งลงมา

ทำให้เกิดเส้นทางการค้าและการคมนาคมบริเวณบ้านเมืองชายทะเลเข้ามาแลกเปลี่ยนและขนถ่ายสินค้าจากดินแดนภายใน (hinterland) เป็นผลให้เกิดการเคลื่อนไหวของผู้คนหลายชาติพันธุ์เข้ามาตั้งหลักแหล่ง สร้างบ้านแปงเมืองกันตามลุ่มน้ำต่างๆ ที่ไหลลงจากเขาและที่สูงสู่ที่ราบลุ่ม ทำให้เกิดเป็นเมืองใหญ่ขึ้นมา ดังเช่นเมืองไชยาที่อ่าวบ้านดอน เพชรบุรี ราชบุรี ตามพรลิงค์ที่นครศรีธรรมราช สุพรรณภูมิ อโยธยา แพรกศรีราชา หริภุญชัย เขลางค์นคร ศรีสัชนาลัย-สุโขทัย เป็นต้น ในดินแดนหรือพื้นที่ที่กำหนดจากศิลาจารึกและหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่าอยู่ในขอบเขตของแคว้นสุโขทัย คือพื้นที่ในลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ที่มีส่วนบนอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์และตาก และตอนล่างมาสุดปากน้ำโพในเขตจังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ดังกล่าวมีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านเมืองมาแต่ยุคเหล็กตอนปลายราว ๒,๕๐๐ ปี หรือ ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลลงมา เช่นเดียวกันกับภูมิภาคอื่นๆ ในบริเวณภายในของประเทศ 

การตั้งถิ่นฐานชุมชนเกิดขึ้น ๒ ลักษณะ คือ ๑) ในบริเวณที่ลาดเชิงเขาซึ่งมีทางน้ำไหลลงสู่ที่ราบลุ่ม เพราะเป็นบริเวณที่มีทั้งน้ำกินและน้ำใช้ในการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเฉพาะข้าว ให้พอเพียงแก่การเลี้ยงคนจำนวนมาก ๒) ในบริเวณกลางพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ในบริเวณหนองน้ำและลำน้ำคดเป็นกุด เป็นวัง เป็นมาบ ที่ในเวลาหน้าแล้ง พื้นที่ชายขอบน้ำเป็นพื้นที่แห้ง ซึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ทาม อยู่โดยรอบของบริเวณที่มีน้ำตลอด ที่เรียกว่า บึงหรือบุ่ง พื้นที่ราบแห้งในฤดูแล้งนี้ คือบริเวณที่ใช้ทำนา เรียกว่า นาทาม เป็นพื้นที่เพาะปลูกและอุดมไปด้วยพืชพันธุ์ที่เป็นอาหารแก่คนเป็นจำนวนมาก จึงเกิดการตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนโดยรอบหนองน้ำ (lake) ขึ้น….’

เมื่อมามองถึงภูมิวัฒนธรรมประเด็นเมืองคู่บนลำน้ำยมและน่าน โดยภาพรวมของอาณาบริเวณที่เป็นแคว้นสุโขทัย อาจารย์ศรีศักร มองว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำน้ำปิงและทิวเขาเป็นขอบเขตทางด้านตะวันตก ลำน้ำน่านและทิวเขาทางด้านตะวันออก ซึ่งลำน้ำทั้งสองนี้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการติดต่อกับบ้านเมืองภายนอกในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นบริเวณที่มีความเจริญจากภายนอกเข้ามาได้เร็วกว่า ก่อนที่จะกระจายลงไปยังพื้นที่ชุมชนตามหนองบึงและลำน้ำกลางทุ่งของที่ราบลุ่ม 

‘….รัฐแรกเริ่มของสุโขทัยที่พัฒนาขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำยมทางตะวันตกและลุ่มน่านทางตะวันออก มีความเจริญเติบโตเป็นบ้านเมืองมาก่อนในที่ลาดเชิงเขาหลวงทางตะวันตกของลุ่มน้ำยม เพราะเป็นบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุ โดยเฉพาะเหล็กและของป่านานาชนิด อีกทั้งเป็นแหล่งที่มีแม่น้ำ ลำน้ำหลายสายไหลลงจากเขามาที่ลุ่ม ทำให้เป็นไร่เป็นนาได้มากกว่าอื่นๆ พื้นที่สำคัญดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ตำบลวังหาดและตลิ่งชันในเขตอำเภอบ้านด่านลานหอย
 


แผนที่แสดงตำแหน่งของแหล่งโบราณคดีชุมชนยุคเหล็กและสมัยทวารวดี
ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ก่อนการเกิดรัฐสุโขทัย