วัดพระบรมธาตุ, พระบรมธาตุทุ่งยั้ง, วัดทุ่งยั้ง, วัดมหาธาตุเจดีย์ เขตแม่พร่อง ลุ่มน้ำน่าน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่สม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นวัดสำคัญประจำเมืองทุ่งยั้งและจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวอุตรดิตถ์และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
ทั้งนี้ นอกจากโบราณพุทธสถานและวัตถุภายในวัด อาทิ พระบรมธาตุ วิหาร และหลวงพ่อโตแล้ว วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งยังมีประเพณีประจำปีที่สำคัญคือ ประเพณีอัฐมีบูชา หรือพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธสรีระจำลอง จัดขึ้นทุกวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี โดยเป็นวันงานสลากภัตของวัดและจะมีการจัดแสดงพุทธประวัติตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพด้วย
ย่านชุมชนเก่าทุ่งยั้ง เป็นชุมชนความทรงจำ และชุมชนโดยรอบโบราณสถานเมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองเก่าสมัยสุโขทัยและมีเมืองซ้อนกันอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ‘เวียงเจ้าเงาะ’ โดยเมืองทุ่งยั้งเดิมเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัย แต่ต่อมาแม่น้ำน่านเกิดเปลี่ยนเส้นทางน้ำ ทำให้เมืองทุ่งยั้งเกิดความแห้งแล้ง ชาวบ้านจึงอพยพออกจากพื้นที่ไปอาศัยในแถบบางโพ-ท่าอิฐแทน ทำให้เมืองทุ่งยั้งกลายเป็นเมืองร้างและพังทลายลงในที่สุด คงเหลือไว้แต่พระธาตุทุ่งยั้งเพียงอย่างเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ว่าเป็นเมืองโบราณ โดยชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบโบราณสถาน ขนานไปตามแม่น้ำน่านในแนวตะวันออก-ตะวันตก สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ปัจจุบัน ชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนโดยรอบพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สองชั้น เป็นชุมชนที่มีฐานเศรษฐกิจด้านการเกษตร
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง หรือวัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ที่กลางเทศบาลตำบลทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๔๗ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘
ลุ่มแม่น้ำน่านในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพื้นที่สำคัญที่พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมา ดังพบชุมชนและบ้านเมืองสำคัญบนพื้นที่นี้หลายเมือง เช่น เวียงเจ้าเงาะ เมืองทุ่งยั้ง เมืองฝาง เมืองพิชัย เมืองลับแล เมืองตาชูชก เป็นต้น
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนโบราณบนดินแดนนี้เติบโตและมีพัฒนาการสู่บ้านเมืองที่ยิ่งใหญ่ในสมัยหลัง ก็ด้วยตำแหน่งที่ตั้งซึ่งเสมือนจุดต่อแดนระหว่างบ้านเมืองทางตอนเหนือกับตอนใต้ ที่นี่จึงเป็นศูนย์รวมของสินค้าและวัฒนธรรมจากเหล่าพ่อค้า นักเดินทาง และกองทัพ ที่หมุนเวียนมาหยุดพักชุมนุมกันตั้งแต่สมัยโบราณ
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เสนอข้อคิดเห็นไว้ในงานวิจัยเรื่องเมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัยว่า เมืองสระหลวงในจารึกพ่อขุนรามคำแหงน่าจะอยู่ที่เมืองทุ่งยั้งมากกว่าเมืองพิจิตร เพราะทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองมีที่ราบลุ่มหนองบึงสมกับที่จะได้ชื่อว่าสระหลวง
‘ทุ่งยั้งคือนครสระหลวง’ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้สังเคราะห์และตีความจากภูมิวัฒนธรรมบริเวณลุ่มน้ำยม น้ำน่าน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของภาคกลางตอนบน ประกอบด้วยเมืองสำคัญ ๔ เมือง คือ สุโขทัยกับศรีสัชนาลัย ในลุ่มน้ำยม เมืองพิษณุโลกและทุ่งยั้งในลุ่มน้ำน่าน โดยมองว่า ในจารึกสุโขทัยตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ปรากฏชื่อเมืองสำคัญ ๔ เมืองเช่นกัน คือ สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ที่ยังคงชื่อเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ และสองแควซึ่งเป็นเมืองเก่าทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำน่าน ตรงข้ามกับเมืองพิษณุโลก ซึ่งตั้งขึ้นมาแทนที่ในสมัยหลัง
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เขตแม่พร่อง ลุ่มน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์
ที่มา: ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย