ผู้เข้าชม
0
10 ตุลาคม 2567

ด้วยเหตุนี้จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าดินแดนแห่งรังโคลที่กำสเตงมหิธรวรมันได้รับพระราชทานจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ให้มาสร้างเมืองใหม่ในนามเมืองมหิธรปุระ น่าจะได้แก่พื้นที่บริเวณเมืองสกลนครเก่าหรือเมืองหนองหารหลวงในช่วงปลายพุทธศตวรรษ ที่ ๑๖ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยมีผู้สืบต่อสำคัญคือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ และพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑

ซึ่งทั้งสองพระองค์คงใช้เมืองแห่งนี้เป็นฐานอำนาจในการทำสงครามขยายอำนาจเพื่ออ้างสิทธิในการปกครองอาณาจักรเขมรโบราณกับกษัตริย์อีกองค์หนึ่งที่เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา และเป็นไปได้ว่าพระองค์อาจครองราชย์อยู่ที่เมืองมหิธรปุระซึ่งได้เจริญรุ่งเรืองกลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมเขมรโบราณของบ้านเมืองในดินแดนแอ่งสกลนคร แอ่งโคราชตลอดจนบางส่วนของประเทศลาว โดยเมืองแห่งนี้นับถือทั้งศาสนาพุทธมหายานและศาสนาฮินดู

จนถึงในสมัยพระราชนัดดาของพระองค์ คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ การทำสงครามกับอาณาจักรเขมรโบราณได้สิ้นสุดลง พระองค์สามารถผนวกดินแดนเข้าเป็นปึกแผ่น ทรงครองราชย์ที่เมืองพระนครและสร้างปราสาทนครวัดอันยิ่งใหญ่เพื่อเป็นศาสนสถานประจำรัชกาลของพระองค์ พร้อมกันนั้นพระราชวงศ์และขุนนางสำคัญของพระองค์ก็ได้สร้างศาสนสถานสำคัญๆ ในดินแดนแถบภาคอีสานของประเทศไทย เช่น นเรนทราทิตย์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาสร้างปราสาทพนมรุ้ง กมรเตงอัญศรีวีเรนทราธิบดี เจ้าเมืองโฉกวะกุลขุนศึกสำคัญสถาปนาศรีวิเรนทราศรม ซึ่งน่าจะได้แก่ ปราสาทประธานปราสาทพิมาย เพื่อถวายแด่กมรเตงชคัตวิมายะ และบุคคลผู้นี้เป็นหนึ่งในแม่ทัพสำคัญในภาพสลักกระบวนทัพอันยิ่งใหญ่ ที่ปราสาทนครวัดของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ร่วมกับกองทัพจากเมืองสําคัญต่างๆ รวมทั้งกองทัพเสียมกุกซึ่งอาจ ได้แก่ กองทัพไทยดําจากถิ่นฐานเดิมที่เป็นเครือญาติของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ที่มหิธรปุระ หรือเมืองสกลนครเก่าก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ถิ่นฐานเดิมของราชวงศ์มหิธรปุระที่ปราสาทพระวิหารและดินแดนแถบจังหวัดศรีสะเกษก็ยังมีความสำคัญอย่างมากต่อกษัตริย์ราชวงศ์มหิธรปุระ โดยมีกษัตริย์ราชวงศ์นี้จำนวนสามพระองค์ที่ขึ้นครองราชย์โดยพราหมณ์ภควัตบาทกมรเตงอัญดคุรุศรีทิวากรบัณฑิต แห่งปราสาทพระวิหารเป็นผู้ประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ พระเจ้าธนณินทรวรมันที่ ๑ และพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒

 

ซึ่งในจารึกปราสาทพระวิหาร ๒ กล่าวว่า เท้าของพราหมณ์ผู้นี้ ข้างหนึ่งวางอยู่เหนือพุ่มพระหัตถ์และอีกข้างหนึ่งวางอยู่เหนือพระเศียรของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ด้วยเหตุนี้จึงน่าเชื่อได้ว่าดินแดนแถบปราสาทพระวิหาร และจังหวัดศรีสะเกษอาจจะเป็นที่ตั้งเมืองกษิตินทรคราม เมืองสําคัญเมืองหนึ่งของราชวงศ์มหิธรปุระ สายตระกูลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ที่จารึกปราสาทพนมรุ้ง ๗ กล่าวถึงนั่นเอง....’
 


พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และภาพภายในพระราชวัง ที่ปราสาทนครวัด
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม