การที่ใช้ช่องสี่เหลี่ยมของปราสาทเป็นการดูวันเวลาจากดวงอาทิตย์ ตำแหน่งที่ใช้ก่อสร้างพระธาตุภูเพ็กบนยอดภูสูงบนบริเวณที่โล่งแจ้ง ไม่มีป่าเขาหรือต้นไม้มาขวางกั้นเพื่อให้แสงสาดส่องลงมาตัวปราสาทพอดี แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา ตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์สำคัญ ได้แก่ วสันตวิษุวัต (vernal equinox) ศารทวิษุวัต (autumnal equinox) ครีษมายัน (summer solstice) เหมายัน (winter solstice) และครึ่งทางจักรราศี (cross quater)
งานวิจัยที่นำเสนอข้อมูลทางวิชาการแนวคิดใหม่ของปราสาทหินภูเพ็ก หรือพระธาตุภูเพ็ก ‘ราชวงศ์มหิธรปุระ : ข้อสันนิษฐานใหม่’ โดย ดุสิต ทุมมากรณ์ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น องค์ความรู้ทางวิชาการที่สังเคราะห์มีความเกี่ยวโยงกับพระธาตุภูเพ็กอย่างมีนัยสำคัญ
‘….ห่างจากตัวเมืองสกลนครเก่าไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ในเขตอําเภอพรรณานิคม มีโบราณสถานสําคัญคือ พระธาตุภูเพ็ก ที่ตั้งอยู่บนยอดภูเพ็ก หนึ่งในยอดเขาสูงในเขต เทือกเขาภูพาน โดยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๕๒๒ เมตร
มีลักษณะเป็นปราสาทขนาดใหญ่ประเภทศาสนบรรพตในคติศาสนาฮินดูไศวนิกายก่อด้วยหินทรายทั้งหลัง มีศิวลึงค์เป็นประธานของศาสนสถานมีอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ ที่อาจเทียบได้กับปราสาทพระวิหาร ประเทศกัมพูชา แม้ศาสนสถานแห่งนี้จะสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่มีการแกะสลักลายประดับ แต่ก็มีการใช้งานประกอบพิธีกรรมแล้ว
ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ในอาคารทรงสามเหลี่ยมอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ ถ้ำพระ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ตามคติพุทธศาสนามหายานก็แสดงอิทธิพลศิลปกรรมจากปราสาทพระวิหารเป็นอย่างมาก และเมื่อพิจารณาถึงภูมิศาสตร์ ที่ตั้งของเมืองสกลนครเก่าที่มีภูพานเป็นปราการหลัง บนยอดภูพาน มีพระธาตุภูเพ็กเป็นศาสนบรรพตเหนือยอดเขา เช่นเดียวกับปราสาทพระวิหาร มีหนองหารหลวงเป็นแหล่งน้ำใหญ่ เป็นคลังปลาอันอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกับทะเลสาบแห่งเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ที่แวดล้อมด้วยที่ราบกว้างใหญ่อันอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกข้าว ทอดยาวจากแม่น้ำโขงจนถึงฝั่งประเทศลาวและเวียดนามที่มีสภาพเป็นเทือกเขาสูง อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์และสัตว์ป่า ตลอดจนชนเผ่าพื้นเมือง
ทำให้สามารถสร้างบ้านแปลงเมืองได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะขุนนางยศกำสเตงที่จัดสรรที่ดินกับข้าราชการและประชาชนในเขตพระธาตุเชิงชุมนั้นก็มีอายุร่วมสมัยกับกำสเตงมหิธรวรมันที่ย้ายจากปราสาทพระวิหารมายังดินแดนแห่งรังโคลพอดี คือ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗
นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม กล่าวว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชื่อของรัฐหรือเมืองสำคัญ ในช่วงเวลาระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ ก็ตาม แต่ก็พบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงเมืองขนาดใหญ่ที่น่าจะเป็นศูนย์กลางของรัฐได้ เช่น เมืองพิมายในลุ่มน้ำมูลของแอ่งโคราชและเมืองหนองหารหลวง จังหวัดสกลนคร
พระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม