ผู้เข้าชม
0
10 ตุลาคม 2567

‘แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ชยานักษัตร วันอังคาร ตรงกับปฏิทินมหาศักราช วันอังคารที่ ๒๗ เดือนอัสวิน มหาศักราช ๑๑๒๖’ เมื่อเทียบกับปฏิทินสากลปัจจุบัน เป็น วันอังคารที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๑๗๔๗ เป็นช่วงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ 

พร้อมกับให้รายละเอียดพระธาตุภูเพ็กว่า เป็นปราสาทหินทรายขนาดใหญ่ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ก่อได้เพียงผนังเรือนธาตุระดับคานทับหลังของปราสาท องค์ปราสาทมีทางเข้าคูหาภายในด้านทิศตะวันออก ส่วนอีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ปราสาทมีมุขกระสันเชื่อมกับมณฑปที่มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานล่างสุดของปราสาทและมณฑปเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทมีสระน้ำขนาดเล็ก ๒ สระ (สระแก้ว) เนื่องจากเป็นปราสาทที่ก่อสร้างไม่สำเร็จและไม่มีลวดลายที่สามารถใช้เปรียบเทียบเพื่อกำหนดอายุได้ 

ว่าไปแล้ว ปราสาทหินภูเพ็ก ถือเป็นปราสาทขอมโบราณที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย เป็นปราสาทเทวาลัย ศาสนบรรพต ซึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ไม่มีหลังคา และยอดปราสาท เพียงแต่ทำขื่อตั้งไว้เท่านั้น ตั้งบนยอดเขาที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคทางทิศเหนือสุดของอาณาจักรกัมพุชเทศะ-ขอม-เขมร ในยุคโบราณ (Ancient Khmer) และอาจเป็นปราสาทหินในรูปแบบ ปราสาทประธานเชื่อมอาคารมณฑปบนฐานแกนยาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างอยู่ทางทิศเหนือสุดของภูมิภาคอีสานเหนือ-อีสานใต้ จนถึงเขตเขมรต่ำ (ขะแมร์กรอม) ทางทิศใต้ อันเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางอำนาจการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของอาณาจักรเขมรโบราณ สร้างด้วยหินทรายบนฐานศิลาแลง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ด้านหน้าเชื่อมต่อกับมณฑปรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 

รูปแบบสถาปัตยกรรมมีเรื่องราวของปราสาทหินในคติไศวนิกายผสมกับนิกายปศุปตะ ที่สร้างเทวาลัยขึ้นบนยอดเขาเพื่อสมมติให้เป็นเขาไกรลาส (Kailasha) บนพื้นโลก เพื่อประดิษฐานรูปประติมากรรมศิวลึงค์ (Shiva Linga) เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ ประดิษฐานอยู่เป็นประธานในอาคารประธานที่เรียกว่า วิมาน

ปราสาทภูเพ็กยังเป็นปราสาทหินที่ถูกวางแผนผังในรูปแบบของ ปราสาทประธาน (วิมาน) เชื่อมต่อมณฑปด้วยอันตราละบนฐานต่อเนื่องขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมปราสาทแบบเขมร อีกฐานชั้นซ้อนของมณฑปที่ปราสาทภูเพ็ก ก็เป็นรูปแบบของฐานมณฑปแผนผังทรงจัตุรมุข ที่ยกพื้นบัวสูงกว่าฐานบัวของปราสาทประธานเพียงแห่งเดียว นับจากรูปแบบของปราสาทประธานในแผนผังเดียวกันที่พบในประเทศไทยและกัมพูชา 

 

แผนผังของปราสาทเชื่อมมณฑปที่ปราสาทภูเพ็ก มีขนาดความยาวประมาณ ๓๔ เมตร เป็นแบบที่ใช้แกนยาวเป็นหลัก (Plan Axe) ในแนวตะวันออกถึงตะวันตกที่เริ่มจากบันไดต้นทางมายังชาลาทางเดินหรือทางดำเนิน) ตรงขึ้นสู่ตระพักบันได ก่อนขึ้นสู่บันได ที่ไต่ระดับความลาดชันขึ้นไปสิ้นสุดที่เพิงหน้าผาหินทรายทางด้านหน้าของยอดเขาดอยเพ็กจากแกนยาวเส้นตรง เมื่อผ่านขึ้นไปสู่ยอดเขา ก็จะพบตัวฐานของปราสาทภูเพ็กวางตัวทอดยาว หมุนหน้า (Orientations) ไปทางทิศตะวันออกแท้ (Due East) โดยจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นตรงกับกรอบประตูในช่วงวันวสันตวิษุวัต” (Vernal Equinox) ซึ่งเป็นวันที่ช่วงสว่าง (กลางวัน) และช่วงมืด (กลางคืน) ในหนึ่งวันจะมีเวลาใกล้เคียงกันมากที่สุดในรอบปี โดยแนวฐานปราสาทภูเพ็ก จะทำมุมเฉียงขึ้นไปทางทิศเหนือจากแนวเส้นขนานละติจูด (Latitude Parallel) ประมาณ ๓ องศา 
 

แผนผังในรูปแบบที่ปราสาทประธาน เชื่อมต่อมณฑปด้วยอันตราละบนฐานต่อเนื่อง
ขนาดใหญ่ 
ที่มา: กรมศิลปากร