‘ปราสาทหินภูเพ็ก’ หรือปราสาทพระธาตุภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่บนยอดเขาที่เรียกว่า ดอยคูหา หรือดอยเพ็ก นับเป็นศาสนสถานที่สำคัญ ถ้าปราสาทพนมรุ้ง เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ของอีสานใต้ที่อยู่บนเทือกเขา ที่นี่ก็จัดว่าเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่บนภูเขาลูกเดียวของอีสานเหนือ ปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ ปราสาทหินภูเพ็กตั้งอยู่บนภูเขาสูง การเข้าถึงต้องเดินขึ้นบันไดไปเท่านั้น สภาพทางกายภาพโดยรอบภูเขาเป็นป่า สิ่งก่อสร้างของวัดขาดการดูแลรักษาทำให้อาคารเสื่อมโทรม
บริเวณปราสาทหินภูเพ็ก ซึ่งอยู่บนยอดเขาหินทรายบนเทือกเขาภูพาน ลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยาปรากฏแท่นหินทราย ขนาด ๕๖ X ๕๖ เซนติเมตร สูง ๖๐ เซนติเมตร ด้านบนมีการแกะสลักเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียงรอบเป็นรูปทรงเรขาคณิตจำนวน ๑๖ ช่อง ใช้ติดตามตำแหน่งของดวงอาทิตย์ จากทิศทางของแสง จะได้ทราบฤดูกาลและกำหนดเวลาทำการเกษตร ลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นหินทรายหมวดหินภูพาน ยุคครีเทเชียส ซึ่งประกอบด้วยหินตะกอนประเภทหินทรายเป็นส่วนใหญ่
‘ปราสาทหินภูเพ็ก’ หรือปราสาทพระธาตุภูเพ็ก
ปราสาทหินภูเพ็กก่อด้วยหินแกรนิต เรือนธาตุตั้งอยู่บนฐานยกสูง ตอนหน้าของปราสาท มีฐานหินเป็นก้อนเรียงซ้อนๆ กัน ยื่นออกคล้ายกากบาทสูงกว่าฐานของเรือนฐานเล็กน้อย ตัวเรือนธาตุทั้งสี่ด้านย่อมุมๆ ละ ๕ เหลี่ยม รวมเป็น ๒๐ เหลี่ยม ความกว้างของปราสาทโดยรอบกว้างด้านละ ๑๑ เมตร มีชานเป็นพื้นที่กว้างพอสมควร ความสูงจากพื้นดินถึงฐานชั้นที่ ๑ สูง ๑.๕๘ เมตร จากฐานชั้นที่ ๑ ถึงฐานชั้นที่ ๒ สูง ๐.๗๐ เมตร ตัวเรือนปราสาททั้ง ๓ ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก หน้าอาคารปราสาทหันไปทางทิศตะวันออก
นอกจากนี้ ยังมี ‘ลานเพ็กมุสา’ เป็นลานหินเล็กๆ อยู่เชิงเขาไม่ห่างจากบันไดทางขวามือ หรืออยู่ทางทิศเหนือของ สระแก้ว บริเวณนี้เชื่อว่า บรรดาชายหนุ่มเห็นดาวเพ็ก ที่ฝ่ายหญิงประดิษฐ์เป็นโคมไฟชักขึ้นไว้เหนือยอดไม้ คล้ายดาวประกายพรึกเช้ามืดที่ขึ้นขอบฟ้า
‘สระแก้ว’ มีอยู่ ๒ แห่ง คือสระที่อยู่ด้านทิศเหนือห่างจากพระธาตุหรืออาคารปราสาท ๑๖ เมตร อยู่ติดกับบริเวณลานหลังเขา ๒ เมตร สระอีกแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากปราสาท ๓๐ เมตร สระทั้งสองแห่งกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร น้ำในสระแก้วทิศเหนือไม่แห้ง ถือว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในบริเวณยอดภูเพ็กยังมีถ้ำต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่น ถ้ำพลวง ถ้ำเปือย ถ้ำกบงา ถ้ำซาววา ถ้ำเยือง เป็นต้น
เมื่อมองในด้านภูมิวัฒนธรรมของพุทธศาสนา พระธาตุภูเพ็ก ตามตำนานพระธาตุเจดีย์อีสาน ใช้ลักษณะโครงเรื่อง มี ๒ แบบ คือ ๑. มีการกล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าอยู่ ๓ ฉบับ และ ๒. การไม่ได้เสด็จมาของพระพุทธเจ้า ๗ ฉบับ โครงเรื่องโดยส่วนใหญ่ สอดคล้องกับทฤษฎีโครงสร้างนิทานของ วลาดิมีร์ พรอปป์ (Vladimir Propp) นักคติชนวิทยาชาวรัสเซีย คือคนอื่นให้สิ่งของกับพระเอก สิ่งของเป็นสาเหตุให้พระเอกเดินทางไปอีกเมืองหนึ่ง เช่นเดียวกับในตำนานคือ พระอรหันต์ได้รับพระธาตุ พระธาตุเป็นสาเหตุให้พระอรหันต์ เดินทางไปอีกเมืองหนึ่ง
บุคคลหลัก มีการกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอดีต ๓ พระองค์ ว่าได้เคยมาประดิษฐานพระอุรังคธาตุ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระอรหันต์ที่มีบทบาทสำคัญในการนำเอาพระธาตุของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันมาประดิษฐานไว้ ณ ดินแดนอีสาน และเจ้าเมืองที่มีบทบาทในการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ บุคคลรอง มีการกล่าวถึง พระสงฆ์ เจ้าเมืองต่างๆ พระมเหสีของเจ้าเมืองต่างๆ ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ และมีความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะตั้งอยู่เพียง ๕,๐๐๐ ปี ให้ชาวบ้านพยายามสืบทอดพระพุทธศาสนาไว้ให้ได้ และให้รีบทำบุญทำกุศลเพื่อที่จะได้กลับมาเกิดในยุคของพระศรีอริยเมตไตรย