ผู้เข้าชม
0
8 ตุลาคม 2567

สำหรับตำนานอุรังคธาตุนั้น เป็นเรื่องของผู้ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยตั้งแต่เขตจังหวัดหนองคายลงไปจนถึงอุบลราชธานี ส่วนเรื่องที่ว่า นาคเป็นลัทธิหนึ่งในทางศาสนานั้น หมายความว่าระบบความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชนที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่หนองแสลงมา เป็นลัทธิที่เกี่ยวกับการบูชานาค

นาคเป็นสิ่งนอกเหนือธรรมชาติที่สำคัญ บันดาลให้เกิดแม่น้ำ หนอง บึง ภูเขาและที่อยู่อาศัย ครั้นเมื่อวัฒนธรรมอินเดียโดยเฉพาะพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์แพร่หลายเข้ามา ลัทธิบูชานาคก็ได้ผสมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิศาสนาที่เข้ามาใหม่ จะเห็นได้ว่าเรื่องการที่พระพุทธเจ้าทรงทรมานนาคก็ดี เรื่องพระอิศวรและพระนารายณ์ (พระกฤษณะ) รบกับพญานาคก็ดี
 


หน้าบันฝั่งทิศตะวันตก เป็นภาพพระพรหมประทับนั่งบนบัลลังก์พระหัตถ์ถือลูกประคำ
ขนาบข้างด้วยเหล่าพราหมณ์ ด้านบนเป็นภาพเทวดากำลังรดน้ำสังข์บนอากาศ

 

ในตำนานอุรังคธาตุนั้นเป็นการแสดงถึงชัยชนะของศาสนาใหม่ที่มีต่อระบบความเชื่อเก่า แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าระบบความเชื่อดั้งเดิมจะสลายตัวไป กลับถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาใหม่ด้วย

ดังจะเห็นได้ว่าบรรดานาคได้กลายมาเป็นผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชน กษัตริย์หรือเจ้าเมืององค์ใดเป็นผู้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาก็มักจะได้รับความช่วยเหลือจากนาคในการสร้างบ้านแปงเมืองและบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้แก่บ้านเมือง แต่ถ้ากษัตริย์หรือประชาชนไม่ยึดมั่นในพระศาสนาขาดศีลธรรมนาคก็จะกลายเป็นอำนาจนอกเหนือธรรมชาติที่บันดาลความวิบัติให้บ้านเมืองนั้นล่มจมเป็นหนองเป็นบึงไปอย่าง เช่น เมืองหนองหารหลวงและเมืองมรุกขนคร เป็นต้น

การบรรจุพระอุรังคธาตุและการสร้างตลอดจนบูรณะพระธาตุพนมเป็นเรื่องของการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างแคว้นหรือบ้านเมืองต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วอาจแบ่งระยะเวลาออกได้เป็น ๒ ระยะ ระยะแรก เป็นเรื่องราวที่เป็นนิยายปรัมปราคติ [Myth] คือเริ่มแต่สมัยพุทธกาลในรัชกาลของพระยาติโคตรบูรผู้ครองแคว้นศรีโคตรบูร พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ทรงกำหนดให้พระกัสสปะนำพระอุรังคธาตุมาบรรจุ ณ ภูกำพร้าหลังจากพระองค์นิพพานแล้ว

ครั้งพระมหากัสสปะนำพระอุรังคธาตุมาบรรจุนั้นพระยาติโคตรบูรสิ้นพระชนม์ไปแล้ว พระยานันท-เสนราชอนุชาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งศรีโคตรบูรแทนได้ร่วมกับพระยาสุวรรณภิงคารแห่งแคว้นหนองหารน้อย พระยาอินทปัตนครแห่งแคว้นอินทปัตถนคร และพระยาจุลณีพรหมทัตแห่งแคว้นจุลณี

หลังจากก่อองค์พระธาตุเสร็จแล้วพระอินทร์และเทพยดาทั้งหลายก็พากันมาสักการะพระอุรังคธาตุสร้างเสริมตกแต่งพระธาตุให้งดงาม ทำรูปกษัตริย์ทั้งหลายจากแคว้นต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการก่อพระธาตุทรงช้างทรงม้าพร้อมทั้งลวดลายประดับไว้บนผนังรอบๆ องค์พระธาตุทั้งสี่ทิศ 

รูปเหล่านี้เชื่อกันว่าคือที่ปรากฏบนลวดลายสลักอิฐนั่นเอง เหตุนี้จึงเป็นสิ่งที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์เรื่อยมา ต่อมาบรรดากษัตริย์ทั้งหลายที่ร่วมกันก่อพระธาตุก็สิ้นพระชนม์ไป แต่ว่าไปประสูติใหม่ในวงศ์กษัตริย์ของแคว้นต่างๆ ที่กล่าวนามมาแล้ว ในที่สุดพระยาติโคตรบูรก็ได้เสวยพระชาติเป็นพระยาสุมิตตธรรมครองเมืองรุกขนครแห่งแคว้นศรีโคตรบูร ส่วนกษัตริย์องค์อื่นๆ ได้บวชเรียนจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ทรงมาพบกันอีกทีและทรงร่วมกันบูรณะก่อสร้างพระธาตุพนมครั้งที่สองขึ้น ในครั้งนี้เชื่อกันว่าพระธาตุพนมมีรูปร่างเป็นคูหาสี่เหลี่ยมสองชั้นก่อด้วยอิฐซ้อนกัน