ผู้เข้าชม
0
8 ตุลาคม 2567

คำว่าอุรังคธาตุนั้นหมายถึงพระบรมธาตุส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าซึ่งพระมหากัสสปะนำมาประดิษฐานไว้ ณ ดอยกัปปนคีรีหรือภูกำพร้า อีกนัยหนึ่งก็คือพระธาตุพนมนั่นเอง ตำนานเล่มนี้การเรียงลำดับเหตุการณ์และสถานที่ดูค่อนข้างสับสนจึงมีผู้นำไปเรียบเรียงใหม่ให้อ่านง่ายขึ้นหรือไม่ก็มีผู้ตัดตอนเอาเรื่องราวของสถานที่ไปแยกเขียนเป็นประวัติตำนานของท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ตำนานพระธาตุเชิงชุม ตำนานพระบาท ตำนานพระธาตุนารายณ์เจงเวง ฯลฯ

สาระสำคัญในตำนานอุรังคธาตุนั้น อาจวิเคราะห์เป็นเรื่องสำคัญได้ดังนี้ เรื่องแรกคือพุทธทำนายเป็นสิ่งที่จะต้องมีประจำอยู่ในทุกๆ ตำนาน คือการที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ยังท้องถิ่นใดถิ่นหนึ่งในสุวรรณภูมิแล้วทรงทำนายการเกิดของบริเวณที่จะเป็นศาสนสถานวัดวาอารามหรือบ้านเมือง ตลอดจนการกำหนดพระมหากษัตริย์หรือบุคคลที่จะทะนุบำรุงพระศาสนา

ในตำนานอุรังคธาตุนี้ พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ในท้องที่ต่างๆ เช่นที่ หนองคาย สกลนคร และนครพนม ทรงกำหนดภูกำพร้าในเขตอำเภอธาตุพนม เป็นสถานที่บรรจุพระอุรังคธาตุ และทำนายการเกิดของนครเวียงจันทน์ในบริเวณ  หนองคันแทเสื้อน้ำ

ถัดจากพุทธทำนายก็เป็นนิยายปรัมปรา [Myth] เกี่ยวกับประวัติการเกิดของภูมิประเทศอันได้แก่ แม่น้ำ ที่ราบ และภูเขา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชนที่อยู่อาศัย ตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงการเกิดของแม่น้ำสำคัญๆ ตามลำแม่น้ำโขงว่าเป็นการกระทำของพวกนาค ซึ่งแต่เดิมมีที่อยู่อาศัยในหนองแส เขตยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน

นาคเหล่านั้นได้เกิดทะเลาะวิวาทกันจนเป็นเหตุให้ต้องทิ้งถิ่นฐานเดิมล่องมาตามลำแม่น้ำโขงทางใต้ขุดควักพื้นดินทำให้เกิดแม่น้ำสายต่างๆ ขึ้น เช่น แม่น้ำอู แม่น้ำพิง แม่น้ำงึม แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ฯลฯ ข้อความที่เกี่ยวกับหนองแสและการวิวาทกันของพวกนาคจนเป็นเหตุให้ต้องหนีลงมาทางใต้ตามลำแม่น้ำโขงนั้นตรงกันกับข้อความในตำนานอื่นคือตำนานสุวรรณโคมคำและตำนานสิงหนวัติ

อันเรื่องราวเกี่ยวกับนาคนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่นิยมกันมากในบรรดาบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่หนองแส ซึ่งเป็นตอนต้นน้ำในเขตยูนนาน ลงมาจนถึงเมืองเขมรตรงปากแม่น้ำโขงมีลัทธิเคารพบูชานาค เชื่อกันว่านาคเป็นผู้บันดาลให้เกิดแม่น้ำลำคลองเกิดความสมบูรณ์พูนสุขแก่บ้านเมืองและอาจบันดาลภัยพิบัติให้น้ำท่วมเกิดความล่มจมแก่บ้านเมืองได้

 

นาคมีความสัมพันธ์กับคนในฐานะเป็นบรรพบุรุษ เช่น ในประวัติของอาณาจักรฟูนัน ในจดหมายเหตุจีนกล่าวว่า พราหมณ์มาแต่งงานกับลูกสาวนาค แล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์ปกครองฟูนัน ตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงทรมานพวกนาคจนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา กลายเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาไป

ยิ่งไปกว่านั้น นาคยังเป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ ในการปกครองและความยุติธรรม กษัตริย์องค์ไหนเจ้าเมืองคนไหนประพฤติผิดในการปกครองหรือประชาชนมีจิตใจไร้ศีลธรรมจะได้รับการลงโทษจากนาค ทำให้บ้านเมืองพิบัติล่มจมไป แต่ผู้ใดเจ้าเมืองใดยึดมั่นในพระพุทธศาสนานาคก็จะทำตัวเป็นผู้คุ้มกันและช่วยเหลือ

นิยายปรัมปราคติอันเกี่ยวกับนาคซึ่งเชื่อกันว่าเป็นความจริงนี้ ถ้าหากวิเคราะห์และแปลความหมายตามหลักวิชามานุษยวิทยาแล้วอาจมองได้ ๒ ลักษณะคือ

๑. นาคในลักษณะที่เป็นกลุ่มชนดั้งเดิม 

๒. นาคในลักษณะที่เป็นลัทธิหนึ่งในทางศาสนา

ถ้าหากแบ่งขั้นตอนของการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนที่มาจากหนองแสตามตำนานแล้วก็กล่าวได้ว่า ตำนานสุวรรณโคมคำและตำนานสิงหนวัติ เป็นเรื่องของกลุ่มชนที่เคลื่อนย้ายมาตั้งรกรากอยู่ในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบน คือตั้งแต่เขตจังหวัดเชียงราย หลวงพระบางลงมาจนถึงจังหวัดเลย