ผู้เข้าชม
0
8 ตุลาคม 2567

พระธาตุพนมเป็นศูนย์รวมศรัทธาของคนลุ่มน้ำโขงตอนกลาง ในช่วงเวลาที่เกี่ยวเนื่องกับนครรัฐที่เรียกว่า ‘ศรีโคตรบูร’ ซึ่งบ้านเมืองในรัฐโบราณสองฝั่งโขงที่มีอายุเก่าแก่ต่อเนื่องจากสมัยทวารวดีตอนปลายและสมัยเขมรยุคก่อนเมืองพระนครและสมัยเมืองพระนคร ร่วมสมัยกับรัฐจามปาทางชายฝั่งทะเลเวียดนามตอนกลาง โดยมีเครือข่ายบ้านเมืองตั้งแต่เมืองหนองหารหลวงและหนองหารน้อยในสกลนคร ที่ต่อมามีเมืองที่อยู่อีกด้านของเทือกเขาภูพาน คือสาเกตนคร หรือร้อยเอ็ดที่มีหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ทีเดียว

ในระยะต่อมาจากเมืองมรุกขนครที่ภูกำพร้า ซึ่งน่าจะอยู่ทั้งสองฝั่งของลำน้ำโขงที่บริเวณพระธาตุพนมและฝั่งตรงข้ามคือทางเซบั้งไฟ ก็มีเมืองเวียงจันทน์-เวียงคำและเมืองไผ่หนามในที่ราบลุ่มน้ำงึมขึ้นมาแทนที่ 
 


‘ศรีโคตรบูร’ มีเครือข่ายบ้านเมืองตั้งแต่เมืองหนองหารหลวงและหนองหารน้อย
ในสกลนคร ที่ต่อมามีเมืองที่อยู่อีกด้านของเทือกเขาภูพาน คือสาเกตนครหรือร้อยเอ็ด
 

ตำนานอุรังคธาตุนั้นเป็นความทรงจำที่ถูกเขียนขึ้นในช่วงยุคที่อาณาจักรล้านช้างรุ่งเรืองเมื่อราวพุทธ-ศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ โดยเป็นคตินิยมของพระภิกษุสงฆ์ที่จะเขียนถึงบ้านเมืองในอดีตโดยอิงกับชาดกทางศาสนาหรือความเชื่อที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ตามสถานที่ต่างๆ และสถานที่แห่งนั้นก็จะมีคนตั้งบ้านแปงเมืองต่อไปหรือที่เรียกว่า ‘พระเจ้าเลียบโลก’ ในตำนานของทางล้านนาที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จึงปรากฏสถานที่สำคัญเป็นชื่อบ้านนามเมืองในท้องถิ่นต่างๆ อยู่ทั้งสองฝั่งโขงจนไปถึงสกลนครและร้อยเอ็ดจนทุกวันนี้

ส่วนหลักฐานทางศาสนสถานและโบราณวัตถุชี้ว่า มีบ้านเมืองทั้งสองฝั่งตั้งแต่เวียงจันทน์จนถึงสะหวันนะเขต โดยมีศูนย์กลางของรัฐและความศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองอยู่ที่ ‘พระธาตุพนม’ และบริเวณเซ-บั้งไฟในฝั่งลาว ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระธาตุพนม ตลอดจนบริเวณลำน้ำก่ำที่เข้ามาถึงเมืองสกลนครในอดีต

นักวิชาการรุ่นก่อนมักไม่ยอมรับว่าศรีโคตรบูรมีจริง เนื่องจากเสาะหาเฉพาะหลักฐานที่เป็นบ้านเมือง ซึ่งมีศาสนสถานที่สามารถกำหนดอายุ สิ่งที่พบส่วนใหญ่นั้นกระจัดกระจายโดยไม่สามารถเชื่อมโยงได้ นักวิชาการโดยมากจึงไม่เชื่อถือเรื่องราวในตำนานที่ปรากฏเนื่องจากพิจารณาว่าเป็นหลักฐานเอกสารที่ไม่น่าเชื่อถือว่าเป็นข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ดังนั้น จึงมีบางแห่งที่เรียกตำนานอุรังคธาตุนี้นี้ว่า ‘อุรังค-นิทาน’

อย่างไรก็ตาม การศึกษาตำนานนั้น ควรพิจารณาระบบสัญลักษณ์ที่เป็นรหัสนัยยะได้ในลักษณะของความทรงจำที่สะท้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมา รวมทั้งต้องเข้าใจถึงคติความเชื่อที่เขียนหรือบันทึกในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมักเป็นการบันทึกขึ้นภายหลังและเจือปนด้วยโลกทัศน์ของผู้บันทึก มากกว่าที่จะเป็นการบันทึกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ล่วงไปแล้ว

เมื่อพระธาตุพนมล้มในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นอกจากจะพบหลักฐานสำคัญจากลวดลายซึ่งมีอิทธิพลศิลปะจามชัดเจนปรากฏบนฐานอาคารปราสาทอิฐหลังเดิม โดยมีการสร้างพระธาตุครอบไว้แล้ว ที่ยอดมณฑปซึ่งล้มหักพัง พบ ‘อูบมุง’ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นกล่องโลหะขนาดใหญ่มีฝาครอบ และที่ยอดมีรูปแบบคล้ายคลึงกับยอดอูบทองคำพบที่บริเวณบ้านหนองเรือทองริมน้ำเซบั้งไฟ ฝั่งตรงข้ามกับพระธาตุพนม