ผู้เข้าชม
0
8 ตุลาคม 2567

เมื่อวันที่  ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๘ น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม และประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิมการก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒

นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุมีน้ำหนักถึง ๑๑๐ กิโลกรัม ปัจจุบันองค์พระธาตุ มีฐานกว้างด้านละ ๑๒.๓๓ เมตร สูง ๕๓.๖๐ เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงแลดูสง่างาม
 


พระธาตุพนมล้มทลายลง เนื่องจากความเก่าแก่ ประจวบกับฝนตกพายุ
พัดแรงติดต่อมาหลายวัน จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
 

 

พระธาตุพนม เป็นพุทธศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองนครพนมและประเทศไทยมาช้านาน ได้รับการเคารพสักการะทั้งจากชาวไทยและชาวลาว นอกจากนี้วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ยังนับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ครั้งพระราชพิธีราชาภิเษกของทุกรัชกาล จะต้องมีการนำน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในประเทศรวมทั้งที่วัดพระธาตุพนมไปร่วมพิธีเพื่อประกอบพิธีมุรธาภิเษก และเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานต้นไม้ ทอง เงิน น้ำอบ และผ้าคลุม เพื่อนมัสการพระธาตุพนมทุกปี 

ในเทศกาลเข้าพรรษา ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเทียนพรรษาเป็นพุทธบูชาทุกปี งานนมัสการพระธาตุพนมประจำปีจัดขึ้นระหว่างวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี ปัจจุบันวัดพระธาตุพนมและพระธาตุพนมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และดูแลรักษาเป็นอย่างดี

พระธาตุพนม เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวอีสานและลาวตลอดริมฝั่งโขง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ หน้า ๓๖๘๗ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๖ ตอนที่ ๑๖๐ หน้า ๓๒๑๗ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๒๒ มีพื้นที่ประมาณ ๑๗ ไร่ ๓ งาน ๕๖ ตารางวา

องค์พระธาตุพนม ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ วัดพระธาตุพนมได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร

จุดหนึ่งทางภูมิวัฒนธรรมหรือภูมิศาสตร์โบราณคดีที่ถูกมองข้ามของพระธาตุพนม คือสถานที่ตั้งขององค์พระธาตุเป็นเนินดินสูงกว่าบริเวณโดยรอบประมาณ ๒ เมตร เนินดินอันเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุพนม ที่เรียกมาตั้งแต่โบราณกาลว่า ‘ภูกำพร้า’ ไม่ได้ถูกกล่าวถึงหรือมีงานวิจัยทางวิชาการออกมามากนัก 

สถานที่ประดิษฐานพระธาตุพนมในอุรังคธาตุนิทานเรียก ภูกำพร้า ชื่อนี้มีนัยสำคัญอย่างไร? ภูเขาลักษณะเช่นไร? จึงเรียก ภูกำพร้า ทำไมพระธาตุพนมจึงต้องสร้างบนภูกำพร้า?