ผู้เข้าชม
0
1 ตุลาคม 2567

สรีดภงส์ ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนพิเศษ ๑๓๒ง วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน (โบราณสถานเขื่อนกั้นน้ำโบราณ) และขึ้นทะเบียนขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization - UNESCO) เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ ๕๗๔

เมื่อมาวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์โบราณคดีถึงทำเลที่ตั้งของเมืองสุโขทัยนั้นตั้งอยู่บนที่ราบลาดเอียงชายป่า มีลำธารที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขา ทางทิศตะวันออกของเมืองเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่

ทำให้เห็นได้ว่าเมืองสุโขทัยนั้นตั้งอยู่ริมทะเลสาบ มีขุนเขาเป็นฉากบังอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ มีการสร้างคูเมืองกำแพงเมือง มีระบบการจัดผังเมืองเป็นบ้าน เป็นเมือง เขตสวนไร่นา บ้านใหญ่ บ้านเล็ก ความรู้ทางด้านฝายน้ำล้นที่มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ได้ถูกนำมาใช้ก่อสร้าง ชักน้ำไปทางทิศตะวันออก ผ่านคูเมืองและพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่างๆ ก่อนไหลลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม

ระดับความลาดเอียงในเมืองสุโขทัยที่มีความสูงถึง ๓-๔ เมตร ย่อมกักเก็บน้ำไม่ได้จึงต้องมีการขุดสระน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในการเกษตรกรรม ภูมิศาสตร์โบราณคดีของกรมศิลปากร ได้อรรถาธิบายถึง สรีดภงส์ ว่า มาจากภาษาสันสกฤตว่า สริทฺกงฺค แปลว่า ทำนบ  

จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยเจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย พบแนวคันดินเชื่อมต่อระหว่างเขากิ่วอ้ายมาและเขาพระบาทใหญ่ มีการขุดดินจากด้านในเพื่อนำมาปรับถมเป็นคันดินกั้นน้ำ ลักษณะคันดินที่เหลืออยู่มีขนาดฐานกว้างประมาณ ๑๔ เมตร สูง ๔ เมตร คันดินตอนบนกว้าง ๓-๔ เมตร ยาว ๓๓๐ เมตร สภาพพังทลายขาดเป็นช่วงๆ เพราะถูกน้ำกัดเซาะ 

สภาพปัจจุบันได้รับการปรับปรุงคันดินตามระบบชลประทาน มีความสูงประมาณ ๑๐ เมตร กักเก็บน้ำได้ ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับน้ำประมาณ ๕ ตารางกิโลเมตร รับน้ำจากเทือกเขาประทักษ์ เขาค่าย เขาเจดีย์งาม ที่เป็นพื้นที่หลังคารับน้ำไหลลงมาเป็นลำธาร หรือ โซกต่างๆ เช่น โซกพระร่วงลองพระขรรค์/ โซกเรือตามอญ/ โซกอ้ายก่าย/ โซกน้ำดิบชะนาง/ โซกชมพู่/ โซกพม่าฝนหอก

ลักษณะการวางผังเมืองสุโขทัย จากทำเลที่ตั้งของเมืองสุโขทัยเดิมอยู่ในบริเวณวัดพระพายหลวง (ชุมชนพระพายหลวงในปัจจุบัน) บนที่เนินสูงใกล้เขาเพื่อเลี่ยงการเกิดน้ำท่วมจากริมแม่น้ำ ซึ่งได้รับอิทธิพลการสร้างเมืองจากฮินดูที่มีความชำนาญในการจัดรูปแบบแผนผังของเมืองและการสร้างระบบชลประทาน การเปลี่ยนแปลงของประชากรที่เพิ่มขึ้นสู่การสร้างเมืองใหม่สุโขทัยที่ใหญ่กว่าเมืองเดิม ๔ เท่า ตั้งอยู่ในด้านทิศใต้ของเมืองเดิม ถูกสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ เริ่มมีการสำรวจแหล่งน้ำและเส้นทางน้ำไหลเพื่อให้ภายในเมืองถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ 

การรับอิทธิพลการวางผังเมืองจากวัฒนธรรมเขมรโบราณจึงมีการกำหนดแนวแกนเมืองตรึงอยู่ทั้ง ๔ ทิศ มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ๒ กิโลเมตร กว้าง ๑.๖ กิโลเมตร มีประตูเมืองทั้งหมด ๔ ทิศ ได้แก่ ประตูศาลหลวง (ทิศเหนือ) ประตูกำแพงหัก (ทิศตะวันออก) ประตูนะโม (ทิศใต้) และประตูอ้อ (ทิศตะวันตก) 
 


ทำเลที่ตั้งของเมืองสุโขทัยเดิมอยู่ในบริเวณวัดพระพายหลวง 
จากระบบฐานข้อมูลศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม