คันดินกั้นน้ำขนาดใหญ่ในระหว่างหุบเขากิ่วอ้ายมาถึงเขาพระบาทใหญ่อันเป็นที่รวมของน้ำจากโซกต่างๆ ตามบริเวณเขาถึง ๑๗ โซก เป็นคันดินสำหรับผันแปรทิศทางของน้ำ ที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าคือ สรีดภงส์ ที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกที่ ๑ น้ำจากสรีดภงส์จะถูกระบายไปตามคลองเสาหอ เพื่อเข้าไปใช้อุปโภคบริโภคภายในเมือง โดยระบายเข้าสู่เมืองตรงมุมตะวันตกเฉียงใต้
ทุกวันนี้มีการเข้าใจผิดกันมาก โดยเรียกแนวกั้นน้ำซึ่งกักเก็บให้เป็นอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานว่า สรีดภงส์ เพราะจริงๆ สรีดภงค์คือคันดินแถววัดเขาพระบาทใหญ่ ไม่ใช่เขื่อนสรีดภงส์ในปัจจุบันที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยกรมชลประทานร่วมกับกรมศิลปากร ให้มีความสูงและแข็งแรงกว่าเดิมสำหรับใช้กักเก็บน้ำ มีความสูงประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร เจตจำนงดั้งเดิมเมื่อครั้งเมืองโบราณสุโขทัย สรีดภงส์ ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคันดิน หรือที่เรียกว่า ทำนบกั้นน้ำ (dyke) มีจุดประสงค์หลักคือการทำหน้าที่กักเก็บน้ำบริเวณที่ราบต่ำระหว่างเขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมและการล่อเลี้ยงน้ำและการใช้สอยในเมืองคูเมืองผ่านทางคลองเสาหอทางทิศตะวันออกตามความลาดชันของพื้นที่ที่ลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก
แนวกั้นน้ำซึ่งกักเก็บให้เป็นอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน
เป็นคันดินกั้นน้ำระหว่างเขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา โดยเขื่อนจะกักน้ำและมีระบบชักน้ำไปตามคลองส่งน้ำลำเลียงไปตามคลองสู่กำแพงเมืองเก่า แล้วน้ำจะไหลเข้าสู่สระตระพังเงินสระตระพังทองเพื่อใช้สอยในเมืองและพระราชวังในสมัยสุโขทัย
ส่วนในปัจจุบัน กรมชลประทานได้เข้ามาสร้างเขื่อนดินสูงเป็นแนวเชื่อมระหว่างปลายเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายมา สามารถกักเก็บน้ำที่ไหลออกมาจากโซกพระร่วงลองขรรค์ บริเวณระหว่างเขาทั้งสองลูกจึงกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมและระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนี้ลงคลองเสาหอ ซึ่งจะนำน้ำนี้เข้าคูเมืองสุโขทัยที่มุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้ อันเป็นตำแหน่งที่มีระดับความสูงของพื้นดินสูงที่สุดของเมืองสุโขทัย
น้ำจากคลองเสาหอจะไหลลงคูเมืองด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ จากนั้นจะไหลเข้าคูเมืองด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกไปสู่มุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีระดับต่ำที่สุดก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำลำพันไปลงแม่น้ำยมที่อยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันออก
จากการศึกษาพบว่า แต่เดิมก่อนที่กรมชลประทานจะก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำนั้น บริเวณนี้จะมีคันดินเตี้ยๆ สูงประมาณ ๑-๒ เมตร ทอดยาวเป็นแนวขนานกันกับเขื่อนดินสร้างใหม่ของกรมชลประทาน มีคำเรียกคันดินโบราณนี้ว่า ทำนบพระร่วง แต่ลักษณะคันดินไม่สูงนักรวมทั้งมิได้มีสภาพการก่อสร้างที่แข็งแรงพอ จึงอาจที่จะวิเคราะห์ได้ว่า คันดินโบราณที่เรียกว่าทำนบพระร่วงนี้ มิได้ทำหน้าที่เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำเหมือนกับเขื่อนดินที่กรมชลประทานมาสร้างไว้ อาจจะทำหน้าที่เพียงเพื่อบังคับทิศทางของน้ำที่มีมากในฤดูฝน มิให้ไหลล้นไปในทิศทางอื่นที่มิใช่ทิศทางไปสู่เมืองสุโขทัย แต่จะทำหน้าที่เบนน้ำทั้งหมดที่ไหลมาจากเขาทั้งสองลูกนี้ให้ไหลลงไปในคลองเสาหอทั้งหมดเพื่อนำไปสู่คูเมืองสุโขทัย
ทั้งนี้ แนวคันดินที่ทำหน้าที่เบี่ยงเบนทิศทางของน้ำให้ไหลไปตามทิศที่ต้องการซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับทำนบพระร่วงนั้น ถูกพบได้โดยทั่วไปบนพื้นที่ลาดเอียงรอบๆ เมืองเก่าสุโขทัย โดยพบมากที่สุดที่บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันตกจรดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง โดยที่ไม่ได้เรียกว่าทำนบพระร่วงแต่อย่างใด เฉพาะคันดินเป็นแนวเชื่อมระหว่างเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายนี้ที่มีชื่อเรียกกันมาว่า ทำนบพระร่วง เพราะอาจเป็นคันดินแนวที่ชัดเจนที่สุดและถูกรู้จักมาช้านานก็เป็นได้
ทั้งนี้ ทำนบพระร่วงแห่งนี้ นักวิชาการหลายท่านได้เรียกชื่อเป็น สรีดภงส์ ตามชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช)