‘สรีดภงส์’ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์ในการเบนทิศทางน้ำเข้าสู่คูเมืองแล้ว ยังมีหน้าที่ชะลอและเบนน้ำไม่ให้ไหลลงมาพุ่งกระแทกกับตัวเมืองโดยตรง จะเห็นได้ว่าหลักการสร้างและวางผังเมืองของสุโขทัย นอกจากเป็นการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค กระนั้นยังจัดการป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้ามาสู่ตัวเมืองโดยฉับพลัน แต่ทว่าน้ำที่ไว้ใช้อุปโภคบริโภคในตัวเมืองสุโขทัยไม่ได้มาจากคลองเสาหอดังที่กล่าวข้างต้น แต่มาจากพื้นที่ทางทิศตะวันตกบริเวณระหว่างวัดตะพานหินและวัดพระบาทน้อย
อันมีลักษณะพื้นที่เป็นแหล่งน้ำระหว่างภูเขาสองลูกเช่นเดียวกัน ซึ่งจะไหลลงมายังทางประตูอ้อ จากนั้นจะมีการผันน้ำเข้าสู่แหล่งกักเก็บน้ำกินน้ำใช้ในตัวเมือง ซึ่งก็คือคูวัดต่างๆ ที่อยู่ภายในเมือง แต่จากการพัฒนาในยุคหลังทำให้เส้นทางน้ำของวัดตะพานหินนี้ไม่สามารถใช้การได้จึงต้องเปลี่ยนกลับมาทางโซกพระร่วงแทน
ทั้งนี้ คูน้ำตามวัดต่างๆ ในตัวเมืองสุโขทัยถูกใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้น ศาสนสถานสองแห่งที่อยู่บนภูเขา คือ วัดตะพานหิน และวัดพระบาทน้อยจึงมาจากความเชื่อที่ว่า น้ำที่มาจากภูเขาเป็นน้ำที่สะอาดมาก เพื่อเป็นการรักษาน้ำไม่ให้สกปรก จึงกำหนดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาควบคู่กับน้ำเพื่อรักษาแหล่งน้ำนั้น เช่น ศาสนสถานและภูเขา เป็นต้น
นอกจากนี้สุโขทัยไม่ได้มีแค่การจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความครบวงจรระหว่างการจัดน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการจัดการน้ำเพื่อชลประทานหรือการเกษตร (แบบตามฤดูกาล ไม่ใช่เศรษฐกิจการเกษตร) คือ ‘ถนนพระร่วง’ ซึ่งมีแนวคันดินทอดยาวไปยังเมืองศรีสัชนาลัยและอีกแนวไปถึงเมืองกำแพงเพชร โดยถนนพระร่วงนี้มิใช่ถนนอย่างที่เข้าใจ หากแต่เป็นแนวคันทำนบที่ใช้ในการชะลอน้ำกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากจึงสามารถใช้ในการปลูกข้าวนาทามได้...’
สรีดภงส์ หรือ ศรีดภงส์, สรีดภงค์, สรีดภงษ์, ทำนบพระร่วง ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย บ้านมนต์คีรี ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เป็นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำอยู่ภายนอกกำแพงเมืองเก่าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จากประตูอ้อ ซึ่งเป็นประตูเมืองด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกขนาบด้วยภูเขาสองลูกเป็นรูปก้ามปู คือเขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา ภูเขาทั้งสองลูกนี้อยู่ในทิวเขาหลวงด้านหลังตัวเมืองสุโขทัยโบราณ ลึกเข้าไปในทิวเขานี้เป็นซอกเขาอันเป็นต้นกำเนิดของทางน้ำเรียกว่า ‘โซกพระร่วงลองขรรค์’
ถนนพระร่วง แนวคันดินทิศเหนือของเมืองสุโขทัย
ทอดยาวไปยังเมืองศรีสัชนาลัย
สำหรับแหล่งต้นน้ำในอดีตเรียกว่า โซก ก็คือลำธาร โซกที่สำคัญได้แก่ โซกพระร่วงลองขรรค์ โซกพระร่วงลับขรรค์ โซกพม่าฝนหอก โซกชมพู่ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลมาจากเขาประทักษ์ ห่างไปประมาณ ๒.๓ กิโลเมตร บริเวณส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาประทักษ์อันเป็นแหล่งที่อุดมด้วยพืชพรรณไม้ต่างๆ รวมทั้งพืชสมุนไพร และเป็นพื้นที่เปรียบเสมือนหลังคาที่สามารถรองรับน้ำฝนได้อีกด้วย