ผู้เข้าชม
0
1 ตุลาคม 2567

การวิจัยเพื่อศึกษารูปแบบภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการน้ำของเมืองโบราณสุโขทัยที่แสดงถึงวัฒนธรรมที่มีภูมิปัญญาโบราณที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและทำเลที่ตั้งเมือง ผ่านหลักฐานทางเอกสารประวัติศาสตร์และโบราณคดี สามารถแบ่งออกเป็นในเขตกำแพงเมืองและนอกเขตกำแพงเมืองที่แสดงถึงการเข้าใจสภาพภูมิประเทศจากความลาดเอียงที่สามารถส่งน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม

ระบบบริหารจัดการน้ำภายนอกเมืองสุโขทัย ได้แก่ สรีดภงส์ บารายสุโขทัย ทะเลหลวง และลำคลอง โดยคำนึงถึงตำแหน่งเส้นทางน้ำไหลที่มาจากหุบเขาและระดับความสูงต่ำของพื้นที่ก่อนที่จะมีการสร้างคันดินเพื่อขวางทางน้ำไหล เพื่อชะลอน้ำและเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งสามารถส่งน้ำเข้ามาในเมือง อีกทั้งส่วนใหญ่ใช้น้ำเพื่อการเกษตร 

ส่วนระบบบริหารจัดการน้ำภายในเมืองสุโขทัย ได้แก่ ตรีบูร ตระพังและบ่อบาดาลหรือบ่อกรุ โดยใช้วิธีการขุดให้เกิดเป็นบ่อเก็บน้ำ

‘ภูมิวัฒนธรรม และการจัดการน้ำในสมัยโบราณ: ทวารวดี – รัตนโกสินทร์’ โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิ-โภดม ซึ่งบรรยายพิเศษที่ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการกล่าวถึงเมืองโบราณสุโขทัยถึงแนวทางการจัดการน้ำว่า จากตัวอย่างการจัดการน้ำของเมืองโบราณในแต่ละยุค พบว่าในยุคเริ่มแรกตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดีลพบุรี รวมถึงเมืองสุโขทัย เป็นการจัดการน้ำเพื่อป้องกันเมืองในฤดูน้ำหลากและใช้อุปโภคบริโภคในหน้าแล้ง ซึ่งในยุคดังกล่าวยังไม่ปรากฏรูปแบบของการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร แต่ต่อมาในสมัยสุโขทัยได้พบร่องรอยของการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นการสร้างเหมืองฝายใช้กันเองในท้องถิ่น

‘…เมืองสุโขทัยนั้น ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ค่อนข้างเด่นชัด กล่าวคือ มีโครงสร้างของเมืองไว้เพื่อการจัดการน้ำ โดยพื้นที่บริเวณเมืองสุโขทัยไม่มีน้ำจากใต้ดินและห่างไกลจากแม่น้ำ ทำให้ต้องชักน้ำจากภูเขาเข้ามาสู่คูเมืองแล้วจึงผันมากักเก็บไว้ในตระพังเพื่อใช้ในตัวเมือง ซึ่งจะพบว่าพื้นที่เมืองสุโขทัยจะมีสระหรือตระพังอยู่โดยรอบ

เมื่อมีพื้นที่กักเก็บน้ำ ย่อมต้องมีแหล่งที่มาของน้ำ แหล่งต้นน้ำของสุโขทัยนั้นไหลมาจาก ‘โซกพระร่วง’ (โซก เป็นคำโบราณหมายถึง ลำธาร) ที่อยู่ในบริเวณระหว่างเขาสองลูก คือ เขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้าย 

จากนั้นน้ำจะไหลผ่านมายัง ‘สรีดภงส์’ เป็นทำนบกั้นน้ำที่มีลักษณะคล้ายเขื่อนแต่การทำงานนั้นคล้ายคลึงกับฝายน้ำล้น เมื่อเกิดน้ำล้นจะมีการระบายเข้าสู่คลองเสาหอเรื่อยลงไปจนถึงคูเมืองสุโขทัย จะเห็นได้ว่าสุโขทัยใช้หลักการชักน้ำจากภูเขา แล้วจึงใช้ทำนบกั้นน้ำช่วยเบนทิศทางน้ำเข้ามาในเมือง
 


แผนที่แสดงระบบจัดการน้ำภายในเมืองสุโขทัย โดยชักน้ำจากภูเขา
เข้ามาสู่คูเมืองแล้วจึงผันมากักเก็บไว้ในตระพัง