‘...เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้มีพิหารปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมากป่าพลู มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าม่วง มีป่าขาม ดูงามดังแกล้ง เบื้องตีนนอนสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน มีพระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากลาง มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่ บ้านเล็ก เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎี พิหาร ปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพดาในเขาอันนั้น...’
แหล่งน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคภายในเมืองสุโขทัย มีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือน้ำจากสระต่างๆ และน้ำจากบ่อบาดาล น้ำจากสระต่างๆ (ตระพัง) ในเมืองสุโขทัยมีสระน้ำที่สามารถบรรจุน้ำได้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร จำนวน ๘๐ สระ น้ำจากคูเมืองจะไหลเข้าสู่สระต่างๆ ตามบริเวณที่มีชุมชนอยู่อาศัย โดยมีตระพังขนาดใหญ่ จำนวน ๔ ตระพัง ดังนี้
ตระพังเงิน อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุ มีขนาดกว้าง ๕๒ เมตร ยาว ๒๕๓ เมตร ลึก ๓ เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ ๓๙,๔๖๘ ลูกบาศก์เมตร
ตระพังทอง อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ มีขนาดกว้าง ๑๗๕ เมตร ยาว ๘๐๐ เมตร ลึก ๓ เมตร เก็บกักน้ำได้ ๙๖๓,๗๕ ลูกบาศก์เมตร เกาะกลางเป็นที่ตั้งของวัดตระพังทอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง เมื่อคราวเสด็จทอดพระเนตรเมืองเก่าสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ไว้ว่า ตอนแรกที่พระองค์ประทับแรมอยู่ได้อาศัยน้ำในตระพังทองให้สัตว์ที่เป็นพาหนะเดินทางอาศัยดื่มกิน
ตระพังตระกวน อยู่ทางทิศเหนือของตระพังเงินและวัดมหาธาตุ มีขนาดกว้าง ๒๑๖ เมตร ยาว ๔๑๗ เมตร ลึก ๓ เมตร รับน้ำได้ ๒๒๒,๕๐๔ ลูกบาศก์เมตร เกาะกลางเป็นที่ตั้งของวัดสระศรี
ตระพังสอ อยู่ทางทิศเหนือของพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง มีขนาดกว้าง ๕๖.๗๕ เมตร ยาว ๒๑๘ เมตร ลึก ๓ เมตร กักเก็บน้ำได้ ๓๗,๑๑๔ ลูกบาศก์เมตร
น้ำในตระพังเหล่านี้จะระบายไปยังตระพังอื่นๆ ภายในเมือง โดยเริ่มจากทางด้านทิศตะวันตกมาสู่ด้านทิศตะวันออก โดยการวางท่อระบายน้ำต่อถึงกันระหว่างสระต่างๆ จากการขุดแต่งโบราณสถานในเมืองสุโขทัย พบท่อระบายน้ำบริเวณวัดมหาธาตุด้านเหนือ เป็นท่อดินเผาเคลือบ ปากท่อกว้าง ๔๕ เซนติเมตร ปลายสอบเหลือ ๑๘ เซนติเมตร
และพบอีกแห่งหนึ่งที่มุมกำแพงวัดมหาธาตุด้านใต้ พบท่อที่มีขนาดเท่ากันโดยตลอด ส่วนหัวและปลายทำสวมต่อกันได้ ส่วนสระน้ำเล็กๆ จะไม่มีท่อระบายน้ำส่งถึงกัน อาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูกาล จึงไม่มีน้ำขังอยู่ตลอดทั้งปี จึงต้องมีการขุดบ่อบาดาลมาใช้อีกส่วนหนึ่งด้วย
ท่อน้ำโบราณพบที่เมืองสุโขทัย
ว่าไปแล้ว สรุปท้ายสุด เมืองและชุมชนโบราณที่รู้จักวิธีการจัดการน้ำแล้ว โดยพบร่องรอยการสร้างคูน้ำล้อมรอบแทนการสร้างกำแพงเมือง ทั้งยังสร้างทำนบคันดินเบนน้ำ-ชะลอน้ำเข้าสู่คูเมือง และสร้างสระขนาดใหญ่ เพื่อเป็น ‘Tank moat’ กักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค จากตัวอย่างการจัดการน้ำของเมืองโบราณในแต่ละยุค พบว่าในยุคเริ่มแรกตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดีลพบุรี รวมถึงเมืองสุโขทัย เป็นการจัดการน้ำเพื่อป้องกันเมืองในฤดูน้ำหลากและใช้อุปโภคบริโภคในหน้าแล้ง ซึ่งในยุคดังกล่าวยังไม่ปรากฏรูปแบบของการจัดการน้ำเพื่อชลประทานการเกษตร