ด้ามทัพพีสำริดรูปนกยูงที่บ้านดอนตาเพชรนี้ยังพบที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว ในจังหวัดชุมพร ซึ่งก็คล้ายกับรูปแบบทัพพีสำริดพบที่ริมน้ำแควน้อยนี้เช่นกัน การเดินทางติดต่อมายังเส้นทางเศรษฐกิจในสมัยยุคเหล็กตอนปลายหรือในปัจจุบันเริ่มเรียกขานกันว่า ‘ยุคสุวรรณภูมิ’ มีการศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรบริเวณคอคอดกระจากหลักฐานทางโบราณคดีและการขุดค้นต่างๆ ของทั้งนักวิชาการและนักสะสม
จนทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ มีความเห็นทางวิชาการว่าทั้งอาณาบริเวณคาบสมุทรไทยช่วงที่เรียกว่า คอคอดกระ’ [Kra Isthmus] เส้นทางติดต่อของอารยธรรมโบราณที่เข้ามาพร้อมกับพ่อค้า- นักเดินทางระยะไกลนำร่องรอยความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือที่ชาวอนุทวีปรู้จักกันในนามดินแดน ‘สุวรรณภูมิ’ และกลายเป็นจุดเชื่อมต่ออารยธรรมสู่ชายฝั่งจีนตอนใต้ในห้วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๗ ถือว่ามีกิจกรรมการผลิตและขนส่งสินค้าร่วมกับผู้คนหลากหลายทั้งจากทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ตั้งแต่แนวละติจูดบริเวณต้นน้ำกระบุรีในจังหวัดชุมพร ไปจนถึงแนวอ่าวบ้านดอนตอนต้นของอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและปลายสุดของพื้นที่จังหวัดระนองในอำเภอสุขสำราญทางฝั่งอันดามัน
ช้อนหรือทัพพี ทำจากสำริด คล้ายกับสิ่งของอุทิศให้ศพที่ 'บ้านดอนตาเพชร'
อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี จากนิทรรศการบริเวณหลุมฝังศพ
ของอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี
ช่วงเวลานี้บริเวณคอคอดกระถือเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจสำคัญในการนำเอาแร่ธาตุทั้งดีบุก ตะกั่ว และทองคำ และอื่นๆ จากบริเวณคาบสมุทรรวมทั้งการเป็นแหล่งผลิตลูกปัดและเครื่องประดับที่ทำจากหินกึ่งอัญมณีจากบริเวณนี้รวมทั้งการทำลูกปัดจากแก้วนำไปแลกเปลี่ยนค้าขายกับทั้งที่เป็นเมืองท่าค้าขายชายฝั่งอินเดียและทางจีนตอนใต้และบ้านเมืองรายทาง (สามารถอ่านรายละเอียดได้จากงานศึกษาของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ‘ข้ามคาบสมุทรในห้วงแห่งสุวรรณภูมิ’, ๒๕๖๖)
ลูกปัดอาเกตที่พบได้จากชุมชนในยุคเหล็กตอนปลายหรือยุคสุวรรณภูมิ
ที่น่าจะมีความสัมพันธ์กับแหล่งนำเข้าและแหล่งผลิตทางแถบคาบสมุทรที่คอคอดกระ
จากนิทรรศการบริเวณหลุมฝังศพของอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี