ค่า ‘ไอโซโทปเสถียร’ ที่ค่อนข้างแม่นยำนั้นบ่งชี้ว่ามาจาก เหมืองสองท่อ ในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นค่าไอโซโทปที่ตรงกันในรายละเอียด (Yoshimitsu Hirano, Ji-Hyun Ro. Chemical composition and Lead Isotope ratios of Bronze artifacts excavation in Cambodia and Thailand. Water Civilization: From Yangtze to Khmer Civilizations. Yoshinori Yasuda Editor, 2013)
ดังนั้นการใช้แหล่งแร่ตะกั่วจากทางฝั่งตะวันตกของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาไปสู่ชุมชนใหญ่ที่ใช้โลหะและมีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนกับพื้นที่ห่างไกลทั้งทางทะเลและภายในแผ่นดินในยุคสมัยเวลาที่เทียบได้ในช่วงยุคสุวรรณภูมิตอนปลายไปจนถึงยุคฟูนันและช่วงต้นของยุคสมัยทวารวดีที่ภูมิเสนยนี้ ก็ทำให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุแหล่งใหญ่จากเทือกเขาตะนาวศรีในระหว่างพื้นที่ต้นน้ำแควน้อยและแควใหญ่ ก่อนจะไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลองที่มีบทบาทมาตั้งแต่ยุคเหล็กตอนปลายหรือช่วงสุวรรณภูมิไม่แตกต่างไปจากการเป็นแหล่งแร่ดีบุกเช่นกัน
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการว่าบริเวณเหมืองสองท่อเป็นแหล่งทรัพยากรก็คือ การพบแหล่งโบราณคดีที่ ‘ถ้ำองบะ’ ตำบลด่านแม่แฉลบ (14°37′48″N 98°58′48″E) ซึ่งห่างจากแหล่งเหมืองสองท่อมาทางลำน้ำแควใหญ่ราว ๔๐-๕๐ กิโลเมตร บริเวณถ้ำองบะอยู่ในตำแหน่งทางออกหรือปัจจุบันเรียกว่าบ้านปากเหมือง
มีรายงานการค้นพบโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ เช่น โลงศพไม้ กลองมโหระทึกสำริด ภาชนะดินเผา กำไลหิน กำไลสำริด จักรหิน เครื่องมือหินกะเทาะ ลูกปัดหิน เครืองมือเหล็ก แหวนเงิน ห่วงเงิน เเละโครงกระดูกมนุษย์ แม้จะมีอายุการอยู่อาศัยเก่ากว่ายุคเหล็กตอนปลายถึงหมื่นปี แต่มีการพบมโหระทึกสำริดภายในถ้ำอย่างน้อย ๕ ใบ และอาจนำมาจากโดยรอบหรือในบริเวณเดียวกันอีกกว่า ๕ ใบ ถือว่าเป็นแหล่งที่พบมโหระทึกเพื่อใช้ในพิธีกรรมที่มีการนำเข้ามากไม่แพ้ทางแถบคาบสมุทรคอคอดกระเช่นกัน
อนึ่ง การศึกษา ‘ไอโซโทปเสถียร’ ล่าสุดซึ่งสามารถแยกแยะตะกั่วจากแหล่งที่มาต่างๆ ด้วยอัตลักษณ์ระดับอะตอมของตะกั่ว จากกรณีการศึกษาการปนเปื้อนของแร่ตะกั่วจากการทำเหมืองที่ห้วยคลิตี้ มีข้อค้นพบสำคัญ จากการศึกษาการใช้อัตลักษณ์ของสัดส่วนไอโซโทปเสถียรของตะกั่ว 206Pb/ 207Pb และ 208Pb/207Pb ร่วมกับไอโซโทปรังสี 210Pb พบว่า
ตะกั่วความเข้มข้นสูง มาจากหางแร่ตลอดลำห้วย อายุของตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่วไม่ถึงปี แสดงว่าเป็นตะกั่วที่เพิ่งรั่วไหลออกมาจากแหล่งกำเนิดปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่ตะกั่วจากการลักลอบปล่อยเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว (วิจัย ‘ไอโซโทปเสถียร’ เผยความจริงตะกั่วคลิตี้ ที่อาจต้องรื้อวิธีฟื้นฟูทั้งระบบ, https://greennews.agency/?p=23670)
ความเป็นพิษของตะกั่วเป็นที่รู้จักในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แล้วเพราะเป็นสารพิษต่อระบบประสาทที่สะสมตัวอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อนและกระดูก ก่อให้เกิดโรคทางประสาท ตั้งแต่ปัญหาทางพฤติกรรมจนถึงสมองบาดเจ็บและยังส่งผลถึงสุขภาพทั่วไป ระบบหัวใจหลอดเลือดและระบบไต
ชิ้นส่วนมโหระทึกพบที่ถ้ำองบะ
ภาพจากนิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า